วันอังคารที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2552

ความรู้ทั่วไปกับการประกันชีวิต

เนื่องจากงานประกันนั้นถือเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับเงินออกของคนจำนวนมาก ดังนั้นอาชีพประกันนั้นจึงมีกฏหมายและหน่วยงานควบคุมโดยเฉพาะ ผู้ที่เข้ามาเป็นตัวแทนทุกคนจะต้องมีความรู้เกี่ยวกับงานประกันพอสมควร และนี่คือส่วนหนึ่งของความรู้ ที่เอามาเล่าให้กันฟังครับ

ขอเริ่มต้นจากการอธิบายภาพกว้างก่อนว่าการประกันนั้น สามารถแบ่งทั่วๆไปเป็น 2 แบบ ตามสิ่งที่เอาประกัน ถ้าเป็นสิ่งมีชีวิต เค้าก็จะเรียกว่าประกันชีวิต แต่ถ้าเป็นสิ่งไม่มีชีวิต เค้าจะเรียกว่า การประกันวินาศภัย ซึ่งนอกจากจะแตกต่างกันในเรื่องของสิ่งที่เอาประกัน ยังมีข้อแตกต่างในเรื่องการจ่ายเงินเอาประกันด้วย ถ้าประกันชีวิตนั้น กรณีเสียชีวิตจะจ่ายตามทุนประกัน แต่ถ้าเป็นประกันวินาศภัยจะจ่ายตามมูลค่าความเสียหายแต่ไม่เกินทุนประกัน และทั้ง 2 อย่างต่างก็ถูกควบคุมจากหน่วยงานที่ชื่อว่า คปภ.หรือ "สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย"

แล้วถ้าถามว่าประกันชีวิตคืออะไร?
คำตอบที่ได้คงมีหลายคำนิยามแตกต่างกันไป แต่ที่ผมชอบมากที่สุดนั้น ก็คือคำนิยามที่ว่า
การประกันชีวิต คือ การออมเงินอย่างมีระบบพร้อมกับให้การคุ้มครองในระหว่างการออมเงินด้วย
จากนิยามดังกล่าวเราจะเข้าใจในความหมายของประกันชีวิตที่ลึกขึ้นไปดังนี้
(1) การประกันชีวิตเป็นการออมเงินรูปแบบหนึ่ง นอกเหนือไปจากการฝากเงินในธนาคารที่เรารู้จักกันเป็นอย่างดี ซึ่งเงินออมดังกล่าวถือเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศด้วย เพราะยิ่งเงินออมมาก การพึ่งพาเงินลงทุนของต่างชาติก็จะลดลง อันนี้พวกเรียนเศรษฐศาสตร์จะรู้ดี
(2) ที่ว่าเป็นเงินออมอย่างมีระบบ ก็เพราะว่าเป็นการออมเงินที่มีแผนการระยะยาว มีจุดมุ่งหมายที่ชัดเจน และที่สำคัญเป็นการบังคับตัวเราให้หักเงินบางส่วนไว้ก่อนการใช้จ่าย
(3) ข้อแตกต่างและถือเป็นจุดเด่นของเงินออมประเภทนี้ก็คือ การได้รับความคุ้มครองชีวิตและการบาดเจ็บ เพราะคงไม่มีใครรู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในอนาคต ดังนั้นการประกันชีวิตถือเป็นการซื้อความเสี่ยงไว้ได้อย่างคุ้มค่ามากๆ

แล้วประกันชีวิตมีขั้นตอนอย่างไรกัน?
จริงๆประกันชีวิตก็เหมือนการทำสัญญาทางการเงินทั่วไป ซึ่งจะมีกฏหมายแพ่งคุ้มครองอยู่ แต่สัญญาของการทำประกันชีวิตก็จะมีชื่อเรียกพิเศษหน่อยว่า "กรมธรรม์" ซึ่งจริงๆแล้วก็เป็นสัญญาต่างตอบแทนประเภทหนึ่ง ที่เรียกว่าเป็นสัญญาต่างตอบแทน เพราะว่าเป็นธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับบุคคล 2 ฝ่ายซึ่งมีหน้าที่ตอบแทนกันและกัน อันได้แก่ บริษัทผู้รับประกัน มีหน้าที่จ่ายเงินประกันตามกรณีที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ และผู้ประกันมีหน้าที่จ่ายเบี้ยประกันที่ระบุไว้ในกรมธรรม์เช่นกัน

และนอกจาก 2 กลุ่มดังกล่าว ยังมีบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องอีก 4 ฝ่าย อันได้แก่ ตัวแทนประกันภัย ซึ่งทำหน้าที่เป็นเสมือนบริษัทประกันภัยที่สามารถนำส่งกรมธรรม์ และเก็บเงินแทนบริษัทได้, นายหน้าประกันภัย เป็นผู้ชี้ชวนบุคคลให้เข้ามาทำประกันภัยโดยแลกกับค่าตอบแทน, ผู้รับผลประโยชน์ เป็นบุคคลที่ผู้ประกันระบุให้รับผลประโยชน์กรณีตนเองเสียชีวิต, และผู้เอาประกัน เป็นบุคคลที่เกี่ยวข้องกันที่สัญญากรมธรรม์ไปผูกเงื่อนไขชีวิตด้วย

แล้วเลือกประกันอย่างไรดี?
จะทำประกันทั้งทีทำที่ไหนดี ก็ขอตอบว่าทำกับบริษัทที่น่าเชื่อถือสิ โดยเราสามารถตรวจสอบรายชื่อได้กับ คปภ. ซึ่งเท่าที่ทราบปัจจุบันมีบริษัทประกันที่ คปภ.รับรองประมาณ 25 บริษัท จะเลือกทำประกันที่ไหน ก็ไม่แตกต่างกันเท่าไร เพราะการประกันชีวิตมีกฏหมายที่คุ้มครองอย่างเข้มงวด ดังนั้นโอกาสที่จะถูกโกงนั้นแทบจะไม่มี

ส่วนแบบประกันของแต่ละบริษัท ก็จะมีเยอะแยะไปหมด แต่ที่สำคัญเราต้องเข้าใจจุดประสงค์ของการทำประกันก่อน เพราะประกันชีวิตแต่ละแบบนั้นถูกออกแบบมาสนองจุดประสงค์ที่แตกต่างกัน ซึ่งโดยทั่วไปสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มหลัก นั่นคือ การคุ้มครอง และการลงทุนหรือการออมเงิน โดยทั่วไปถ้าต้องการการคุ้มครองเยอะๆผลตอบแทนก็จะน้อยลง ขณะเดียวกันถ้าต้องการได้ผลตอบแทนมากๆ ทุนประกันคุ้มครองก็มักจะน้อย เมื่อเทียบกับเบี้ยประกันที่เท่าๆกัน ดังนั้นถ้าเราทราบจุดประสงค์ในการทำประกันของเรา จะทำให้เราสามารถเลือกแบบประกันที่เหมาะสมได้ดีที่สุด

ส่วนเรื่องผลตอบแทนนั้น เท่าที่สอบถามมาผลตอบแทนของบริษัทประกันแต่ละแห่งก็จะใกล้เคียงกัน แต่ถ้าต้องการคำนวณเอาที่ดีที่สุดก็คงต้องนั่งไล่ดู ซึ่งผมก็ไม่เคยไล่ดูสักทีครับ ^-^ แต่โดยทั่วๆไปก็จะมากกว่าฝากธนาคารเล็กน้อยครับ

นอกจากความรู้ที่พูดถึงมา...
ยังมีความรู้อีกมากมายสำหรับคนที่จะมาเป็นตัวแทนยังต้องรู้ความรู้ในอีกหลายเรื่อง รวมทั้งจรรยาบรรณ เพื่อใช้ในการสอบอีกด้วย อาทิเช่น ประกันชีวิตจะไม่จ่ายใน 4 กรณี อันได้แก่ (1) ฆ่าตัวตายภายใน 1 ปี จากวันจ่ายงวดแรก (2) โดนผู้รับผลประโยชน์ฆ่าตาย (3) โกหกเรื่องข้อมูล ซึ่งถ้าจับได้สัญญาจะเป็นโมฆียะภายใน 2 ปี และ (4)หยุดจ่ายจนไม่เหลือมูลค่าเงินสดแล้ว

หรืออย่างเรื่องมูลค่าของกรมธรรม์นั้น หลายคนก็อาจไม่รู้ว่าจริงๆแล้วกรมธรรม์จะมีมูลค่าเมื่อครบ 2-3 ปี นั่นคือ เราสามารถกู้เงินจากกรมธรรม์ของเราได้ หรือหยุดจ่ายและให้กรมธรรม์คุ้มครองต่อไปได้ (แต่เวลาอาจจะลดลง ที่เรียกว่ามูลค่าขยายเวลา หรือความคุ้มครองลดลง ที่เรียกว่ามูลค่าเงินสำเร็จ) ซึ่งด้วยความจริงข้อนี้ทำให้ไม่ต้องกลัวว่าถ้าเราไม่มีเงินจริงๆหลังจากส่งเบี้ยประกันมาสักระยะจะทำอย่างไร

หรืออย่างเรื่องการเป็นตัวแทนประกันชีวิตต้องมีการสอบวัดความรู้พร้อมกับการอบรมอีกอย่างน้อย 6 ชั่วโมง และต้องมีการต่ออายุใบอนุญาตทุกปี เป็นเวลา 3 ปีเต็มก่อนที่จะเปลี่ยนเป็นใบอนุญาตแบบ 5 ปี เพื่อให้มั่นใจว่าตัวแทนประกันที่มีอยู่นั้นมีคุณภาพจริงๆ เหมือนใบขับขี่ทุกวันนี้ที่เปลี่ยนมาเป้นการต่อแบบรายปี

จะเห็นได้ว่าการประกันชีวิตมีแง่มุมเยอะแยะ เขียนไปเขียนมาก็คงเขียนไม่หมดสักที เอาเป็นว่าอาชีพนี้เป็นอาชีพที่มีกฏระเบียบมากกว่าที่คนทั่วไปคิดกันครับ ^-^