วันอังคารที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2553

ทำไมถึงต้องเป็นกุมภาพันธ์ !!!



วันนี้นั่งดูปฏิทิน อยู่ๆก็เกิดความสงสัยขึ้นมาว่า ใครกันหนาตั้งจำนวนวันในแต่ละเดือนให้มันไม่เท่ากัน ทำให้เกิดความยุ่งยากเหลือเกินในการจดจำ โดยเฉพาะในสมัยวัยเด็ก สำหรับในภาษาไทยของเรายังดีหน่อยที่มีคนคิดสร้างหลักง่ายๆในการจดจำให้ ก็คือ เดือนที่ลงท้ายด้วย "คม" นั่นหนามี 31 วัน แต่ถ้าลงท้ายด้วย "ยน" แล้วละก็จะมีแค่ 30 วัน แต่ แฮ่มๆ ปัญหาก็ยังมาเกิดขึ้นอีกจากเดือนที่ไม่ได้ลงท้ายด้วยทั้ง "คม" หรือ "ยน" ซึ่งมีวันที่ไม่แน่นอนอีก ก็คือบางปีก็มี 28 วัน หรือบางปีอารมณ์ดีหน่อยก็มี 29 วัน

คำถามก็คือ ทำไมต้องเป็นกุมภาพันธ์ ???

หรือว่าความรักนั้นมันสั้นและเปลี่ยนแปลงได้ง่าย เดือนนี้จึงมีจำนวนวันน้อยกว่าวันอื่นๆ แถมยังมีจำนวนวันที่ขึ้นๆลงๆซะด้วย ...... (น่าน เกี่ยวกันไม๊ละเนี่ย)

คงเป็นที่ฟ้าเบื้องบน เป็นคนขีดโชคชะตา
สร้างฉันและเธอให้มา ให้ได้พบเจอกัน
ให้ฉันได้มีโอกาส ลิ้มรสในความชื่นบาน
ให้เรามีกัน มีวันเวลาที่ดี


เติบโตขึ้นมาอีกหน่อย ได้เรียนรู้จากวิชาวิทยาศาสตร์ว่าระบบวันและเวลาในปัจจุบันนั้น คนเรากำหนดจากการเคลื่อนที่ของโลกและดวงอาทิตย์เป็นหลัก (อย่างที่เค้าเรียกกันว่า "สุริยคติ" แต่ในอดีตคนเอเชียทั้งหลาย รวมทั้งคนไทยยึดดวงจันทร์กันมากกว่า อย่างที่เรียกว่า "จันทรคติ" แต่สงสัยเลิกไปตั้งแต่มีคนไปเหยียบดวงจันทร์นะ ผมว่า .. )

ความจริงที่ได้เรียนเพิ่มเติมก็คือ โลกเราหมุนรอบตัวเอง ขณะเดียวกันก็หมุนรอบดวงอาทิตย์ด้วย (เพราะโลกเราอยู่ในระบบสุริยะจักรวาล) ซึ่งการหมุนรอบตัวเองนี่แหละทำให้เกิดช่วงเวลากลางวันและกลางคืน ทำให้เรากำหนดช่วงเวลาดังกล่าวเรียกว่าวัน (ดังนั้นโลกเราหมุนรอบตัวเอง 1 รอบใช้เวลา 1 วัน นั่นก็คือ 24 ชั่วโมง นั่นเอง) ขณะที่การโคจรรอบดวงอาทิตย์ก่อให้เกิดฤดูกาลต่างๆใช้เวลาประมาณ 365 วันนิดๆ จึงกำหนดช่วงเวลาดังกล่าวเป็น 1 ปี ซึ่งไอ้เศษนิดๆนี่แหละ ที่เมื่อผ่านไปหลายๆปีเข้า มันก็รวมกันกลายเป็น 1 วัน จึงมาโปะให้กับเดือนกุมภาพันธ์ สำหรับเศษที่ว่านั้น ทางวิทยาศาสตร์ทำการวัดพบว่ามีจำนวนประมาณ 1/4 ของวัน นั่นแสดงว่าเมื่อครบรอบ 4 ปี เราจะมีวันเกิดขึ้นอีก 1 วัน และเพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาดของฤดูกาลไป จึงกำหนดว่าเมื่อครบทุกๆ 4 ปี จำนวนวันใน 1 ปี จะกลายเป็น 366 วัน ซึ่งส่งผลให้เดือนกุมภาพันธ์มีวันงอกขึ้นเป็น 29 วันนั่นเอง

แต่เอ...ก็ยังไม่เข้าใจอยู่ดีว่าทำไมต้องมาลงที่กุมภาพันธ์ หว่า ???

เมื่อคุณครูที่โรงเรียนไม่ได้สอนเรามา จึงต้องเสาะหาข้อมูลนอกห้องเรียนจากแหล่งข้อมูลชั้นดีอย่าง Google และ ... ไม่น่าเชื่อว่า..มีคนสงสัยเรื่องนี้เีพียบเลย ซึ่งมีการอธิบายไว้อย่างละเอียดมาก ผมขออนุญาตรวบรวมคำตอบเหล่านั้นมาอธิบายไว้ใน Blog นี้ ด้วยคนตามแบบของผมเองครับ

ที่ไปที่มาของเรื่องนี้ คงต้องกล่าวย้อนไปตั้งแต่สมัยโรมัน ซึ่งเริ่มมีการทำปฏิทินในยุคแรกๆ โดยเรียกว่า Roman Calendar (ประมาณ 753 ปีก่อนคริสตศักราช ) โดยในยุคนั้นปฏิทินโรมันจะมีเพียง 10 เดือน เพราะจะไม่นับเดือนในช่วงฤดูหนาวมารวมไว้ในปฏิทิน การนับนั้นเริ่มจากเดือนมีนาคมเป็นเดือนแรกและเรียงไปจนครบ 10 เดือน โดยกำหนดชื่อเรียงไว้ดังนี้ Martius, Aprilis, Maius, Junius, Quintilis, Sextilis, September, October, November และ December ซึ่งชื่อ 4 เดือนแรก เป็นชื่อของเทพเจ้าที่สำคัญ เช่น Martius มาจาก Mar เทพเจ้าแห่งสงคราม ส่วน Aprilis มาจากเทพ Aphrodite หรือ Venus เทพแห่งความรัก ส่วนเดือนที่เหลือหมายถึงเดือนที่ 5-10 นั่นเอง ส่วนจำนวนวันแต่ละเดือนเรียงได้ดังนี้ 31-30-31-30-31-30-30-31-30-30 (ถ้าดูกันให้ดีๆ ชื่อเดือนหลายเดือนก็จะเหมือนกับชื่อเดือนภาษาอังกฤษในปัจจุบันมากทีเดียว)

ต่อมาเมื่อมาถึงกษัตริย์โรมันชื่อ Numa ได้กำหนดเดือนเพิ่มเติมอีก 2 เดือน เพื่อให้สอดคล้องกับฤดูกาล โดยตั้งชื่อว่า Januarius และ Februarius โดยชื่อเดือนกุมภาพันธ์มาจากชื่อเทพเจ้าองค์หนึ่งของชาวอิตาเลียนโบราณครับ เล่ากันว่าเทพเจ้าองค์นี้มีพระนามว่า “Februus” หรืออีกชื่อหนึ่งคือ “Februa” เทพองค์นี้เป็นตัวแห่งความตายและความบริสุทธิ์ ว่ากันว่าเทพองค์นี้ยังเป็นสัญลักษณ์แห่งการเฉลิมฉลองด้วย (มาแล้วครับเดือนกุมภาพันธ์ที่เราสงสัย)

ต่อมาถึงสมัย Julius Caesar ได้มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ขึ้นอีกครั้งหนึ่ง โดยได้ทำการปรับปรุงระบบปฏิทินครั้งใหญ่ (ทำให้ระบบปฏิทินปัจจุบันถูกเรียกกันว่าระบบ Julian and Gregorian calendars) จากเดิมที่อิงการนับจากดวงจันทร์เป็นหลักมาอิงกับดวงอาทิตย์แทน มีการกำหนดให้จำนวนวันในหนึ่งเดือนให้สลับกันระหว่าง 31 วัน ในเดือนคี่ กับ 30 วัน ในเดือนคู่ (ดีจัง จำก็ง่าย ไม่ต้องนั่งท่อง) มีการย้ายวันปีใหม่จากเดือน Martius เดิมมาเป็นเดือนมกราคม นอกจากนี้ยังมีการเปลี่ยนแปลงชื่อเดือนจาก Quintilis มาเป็น July เพื่อเป็นที่ระลึกให้กับท่านหลังจากเสียชีวิตไปแล้วอีกด้วย

แต่การเปลี่ยนแปลงที่เราต้องให้ความสนใจ ก็คือเดือนกุมภาพันธ์ถูกกำหนดให้มีจำนวนวันน้อยกว่าเดือนอื่นๆ เพื่อไม่ให้มีปัญหาทางด้านฤดูกาล นั่นคือกำหนดให้เดือนกุมภาพันธ์มี 29 วันในปีปกติสุรทิน (ปีปกติสุนทิน หมายความว่าเป็นปีปฏิทินที่มีจำนวนวัน 365 วัน) และมี 30 วันในปีอธิกสุรทิน (ปีอธิกสุรทิน หมายความว่าเป็นปีปฏิทินที่มีจำนวนวัน 366 วัน) ... ผมยังไม่รู้เหตุผลเหมือนกันว่าทำไมต้องเป็นเดือนกุมภาพันธ์ แต่คิดว่าน่าจะเพราะเดือนดังกล่าวเป็นเดือนที่เกิดขึ้นหลังสุดหรือเป็นน้องเล็กนั่นเอง

ต่อมาในยุคสมัยของกษัตริย์ Augustus Caesar ไม่พอใจที่เดือน Sextilis ซึ่งเป็นเดือนเกิดของตนเองมีจำนวนวันแค่ 30 วัน (คงไปเทียบกับ July ที่มี 31 วัน) จึงได้ทำการเพิ่มวันในเดือนดังกล่าวใหม่เป็น 31 วัน โดยดึงวันออกจากเดือน February ออกมา 1 วัน (คงเนื่องจากเป็นน้องเล็กเหมือนเดิม) และกำหนดให้รันจำนวนวันใหม่นับตั้งแต่เดือน Sextilis ไป นั่นคือ September จากที่เคยเป็น 31 วัน ก็เหลือ 30 วัน October จากที่เคยเป็น 30 วัน ก็เพิ่มเป็น 31 วัน จนครบถึงเดือน December นอกจากนี้ยังมีการเปลี่ยนชื่อเดือน Sextilis มาเป็น August อีกด้วย (พบแล้ว ผู้ที่สร้างปัญหาให้เกิดความยุ่งยาก)

นี่จึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมเดือนแต่ละเดือนจึงมีจำนวนวันไม่เท่ากัน และทำไมต้องเป็น February ที่มีวันพิศดารกว่าเค้า นั่นแหละกรรมของน้องคนเล็ก !!

ขอขอบคุณความรู้ดีๆจาก
1) http://zaladin.exteen.com/20080813/entry
2) http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2007/09/K5800084/K5800084.html
3) Wigipedia (เนื้อหาเต็มๆอ่านได้ที่นี่ครับ)

ไม่มีความคิดเห็น: