วันเสาร์ที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2555

วัดเทวราชกุญชร

ไหนๆก็ไหนๆขอแนะนำวัดเทวราชกุญชรเสียหน่อย

วัดเทวราชกุญชร วรวิหาร เป็นวัดเก่าแก่ ซึ่งน่าจะสร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมชื่อวัด "สมอแครง" แต่ภายหลังเปลี่ยนชื่อในรัชกาลที่ 4 โดยสมาสคำ 2 คำ คือคำว่า เทวราช + กุญชร

คำว่า "เทวราช" ก็หมายถึง ราชาของเหล่าเทวดา ซึ่งมักจะหมายถึงพระอินทร์ ซึ่งทำหน้าที่เป็นหัวหน้าเทวดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึง

ส่วนคำว่า "กุญชร" นั้นแปลตรงตัวก็คือช้าง ซึ่งเอามาจากพระองค์เจ้ากุญชร (กรมพระพิทักษ์เทเวศน์ ต้นสกุล กุญชร ณ อยุธยา) ผู้ทรงบูรณะปฏิสังขรวัดนี้

ดังนั้น ความหมายของชื่อวัด เทวราชกุญชร จึงหมายถึงช้างทรงของพระอินทร์นั่นเอง  และ Logo ของวัดก็เป็นช้างสามเศียร ที่พระอินทร์ทรงประทับอยู่นั่งเอง

ส่วนที่ตั้งของวัดเทวราชกุญชร จะอยู่ข้างหอสมุดแห่งชาติ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้วิวทิวทรรศน์สวยงามมาก เพราะจากวัดจะมองไปเห็นสะพานพระราม 8 ได้อย่างชัดเจน



ส่วนบริเวณพื้นที่ภายในวัดก็มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย จากการดูแลและบริหารงานอย่างดีของท่านเจ้าอาวาส (พระเทพคุณาภรณ์) ทำให้ในวัดูสะอาดและดูทันสมัยดี ซึ่งนอกจากจะเป็นแหล่งธรรมะแล้ว ผมยังเห็นว่าวัดนี้เหมาะกับเป็นแหล่งท่องเที่ยวเสียด้วยซ้ำ เพราะมีที่สวยงามหลายจุด แม้ว่าจะเป็นวัดเล็กๆ อันได้แก่
  • ชมพิพิธภัณฑ์ไม้สักทอง ของ ดร.อุกฤษฏ์ มงคลนาวิน ซึ่งท่านได้ย้ายบ้านไม้สักทองของท่านเข้ามาขอปลูกในวัด เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้มีโอกาสเห็นไม้สักทองต้นใหญ่ๆ ที่หาดูได้ยากเต็มที นอกจากไม้สักทองแล้ว ภายในยังมีรูปปั้น fiberglass ของพระเถระผู้ใหญ่และพระสังฆราชในอดีตอีกด้วย ส่วนด้านล่างมีการวางหนังสือหายาก ซึ่งคนทั่วไปไม่มีโอกาสได้เห็นอยู่หลายเล่ม (แต่แอบบ่นหน่อย เพราะทางพิพิธภัณฑ์เรียกซะว่าหอสมุด แต่พอว่ามีแต่หนังสือกฏหมาย กับประวัติท่าน ดร.อุกฤษฏ์)
  • ชมความงดงามของพระอุโบสถ ซึ่งภายในมีพระพุทธเทวราชปฏิมากร พระพุทธรูปโลหะลงรักปิดทองปางมารวิชัย เป็นพระประธาน ห้อมล้อมไปด้วยภาพเขียนรูปเทวดามากมายมาชุมนุมกัน (ผมยังหาตัวเลขที่แน่นอนไม่ได้เลยว่ามีเทวดาในภาพวาดกี่องค์ ไว้ได้ตัวเลขเมื่อไรจะมาใส่ไว้ให้ทราบกัน) สำหรับพระประธานนี้มีประวัติว่าอัญเชิญมาจากอยุธยาทางแพ และแพมาหยุดหน้าวัดเทวราชนี้ จึงอัญเชิญขึ้นมาเป็นพระประธานจนถึงบัดนี้
  • ชมสถาปัตยกรรมเก่าๆ ของกุฏิเจ้าอาวาสและ Office วัด
  • ชมบรรยากาศริมแม่น้ำเจ้าพระยา พร้อมให้อาหารปลา


สำหรับใครที่ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมอาจแวะไปเยี่ยมชมที่ website http://www.watdevaraj.com ได้ โดยปัจจุบันวัดนี้ยังมีสาขาอยู่ที่อิตาลีเมืองเวนิสอีกแห่งหนึ่งด้วยนะครับ

ไม่มีความคิดเห็น: