วันศุกร์ที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ทำไมรถจึงติด ?

คุณเคยถามตัวเองไหมว่าทำไมหนอ รถจึงติด??

ผมเป็นชาว กทม. โดยกำเนิดครับ ตอนเด็กๆบ้านก็อยู่แถว central ลาดพร้าว พอโตขึ้นหน่อยก็ย้ายไปอยู่แถวๆศรีย่าน ช่วงเปิดเทอมก็ต้องเดินทางไปกลับโรงเรียนแทบทุกวัน ส่วนปิดเทอมชอบอยู่บ้าน เลยโชคดีหน่อยไม่ค่อยได้เจอรถติด

ถามว่าตอนที่เรียนอยู่เคยเจอรถติดไหม ตอบได้เลยว่าเจอเกือบทุกวัน โดยเฉพาะถ้าวันไหนเลิกเรียนแล้วยังขลุกอยู่ที่โรงเรียน จนเข้าช่วง Peak Time ละก็ โดนดีแน่ๆ แล้วรถติดที่ผมเจอ ไม่ได้ติดธรรมดา ติดกันเป็นชั่วโมงเลย ทั้งที่ระยะทางก็แสนใกล้ จนกระทั่ง ต้องเปลี่ยนวิธีการเดินทางมาเป็นการเดิน (เดินยังเร็วกว่าคิดดู) หรือว่านั่งเรือแทนเลย

แต่แปลกใจเหมือนกันนะครับว่า แม้เราจะเจอรถติดขนาดนี้ แต่ก็ไม่เคยสงสัยมักสักทีว่าทำไมรถถึงติดขนาดนี้ อาจเป็นเพราะเป็นคนไม่ค่อยอยากรู้อยากเห็น หรือว่ามีปัญญาน้อยอยู่ก็ไม่รู้ แม้กระทั่งเติบโตมา จะมาเรียนสายที่เกี่ยวข้องอย่างวิศวกรรม ก็ยังไม่ค่อยมีคำถามนี้แว่บเข้ามาในหัวสักเท่าไร

จำได้ว่าสิ่งที่ทำให้เราฉุกคิดหาคำตอบสำหรับคำถามนี้ก็คือวันที่ได้มีโอกาสไปสัมภาษณ์ชิงทุน ก.พ. ในด้าน Traffic Engineering มีอาจารย์ของเราท่านนึงถามขึ้นมาว่า คุณคิดว่าทำไมรถจึงติด ซึ่งฟังดูตอนนี้ก็เหมือนเป็นคำถามนี้พื้นๆนะครับ แต่ตอนนั้นก็อึ้งกิมกี่ไปพักใหญ่

คนส่วนใหญ่ที่เจอคำถามนี้ก็มักจะตอบว่า เพราะรถเยอะ ถนนน้อย ขณะที่ถ้าคนที่มีภูมิมากขึ้นมาหน่อยก็มักจะตอบว่า ความต้องการ (Demand) มันมากกว่าจำนวนที่รองรับได้ (Supply) ซึ่งผมเองก็ตอบคำถามไปด้วยคำตอบประมาณนี้ครับ

พอเวลาผ่านไป คำถามดังกล่าวกลับยังวนเวียนอยู่ในหัวของผมอยู่ และคำตอบต่างๆมันเริ่มที่จะเข้ามาทีละเล็กละน้อย ตามการเติบโตที่มากขึ้น หรือที่เรียกว่ามีประสบการณ์มากขึ้นนะแหละครับ หากมองย้อนไปตอนนี้การตอบคำถามทั้งสองแบบก็ถือว่าถูกทั้งหมดแหละครับ เพียงแต่ว่า มันเป็นคำตอบแบบที่จะไม่ค่อยเป็นวิศกรรมสักเท่าไร ซึ่งก็คือมันเอาไปแก้ปัญหาในชีวิตจริงไม่ค่อยได้ครับ วันนี้ผมจึงขออนุญาตใช้พื้นที่ Blog ของผม มาแก้ตัวในการตอบคำถามใหม่ครับ

ผมฟันธงว่าปัญหารถติดสามารถใช้หลัก Demand-Supply มาตอบคำถามได้ครับ โดยสภาพรถติดนั้นเกิดจากความต้องการการเดินทาง (Demand) มันมากกว่าจำนวนการเดินทางที่ถนนจะรองรับได้ (Supply) ซึ่งถนนจะเกิดสภาพรถติดเมื่อจำนวนการเดินทางมันเกินจุดสมดุล หรือที่เรียกภาษาวิชาการว่า Equilibrium นั่นเอง

เพื่อความเข้าใจมากขึ้นต้องดูรูปครับ รูปด้านล่างนี้เป็นกราฟ Demand-Supply ที่เห็นกันอยู่ทั่วไป เส้น Demand แสดงเป็นสีเขียว ขณะที่เส้น Supply แสดงเป็นสีม่วง ที่ราคา P* จะเป็นราคาที่เกิดปริมาณ Demand และ Supply เท่ากันพอดีเลย คือ Q* และนี่คือจุดสมดุลนั่นเอง


 
หากเรามามองเป็นเรื่องของรถติด เส้น Demand ก็คือความต้องการในการเดินทางทางถนน ส่วนเส้น Supply ก็แสดงปริมาณที่ถนนรองรับได้ โดย Quantity แสดงปริมาณของรถยนต์ ขณะที่ Price ก็แสดงถึงค่าใช้จ่ายในสภาพนั้นๆ ซึ่งตัวค่าใช้จ่ายนี่แหละที่เป็นตัวทำให้งง เพราะไม่สามารถระบุค่าได้อย่างชัดเจนได้นั่นเอง และในความเห็นของกราฟของเส้น Supply ในการจะอธิบายเรื่องรถติดให้ได้ง่ายขึ้น ควรปรับเป็นกราฟแนวตั้งแทน ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ไม่ว่าราคาการเดินทางจะเป็นเท่าไร ถนนก็รองรับปริมาณการจราจรได้แค่จำนวนหนึ่ง ยกเว้นมีการสร้างเส้นทางเพิ่ม ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงในระยะยาว ซึ่งจะทำให้เส้น Supply เขยิบออกไปแทน เช่น เปลี่ยนไปเป็นเส้นสีแดง
 

หากพิจารณาถึงสภาพหนึ่งๆจะพบว่ามีจุดสมดุลอยู่ที่ปริมาณ Q ดังนั้นเมื่อปริมาณการเดินทางมีมากกว่า Q นั่นย่อมทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่ารถติด และกลับกันหากปริมาณการเดินทางมีน้อยกว่า Q ก็จะเกิดสภาวะที่รถไม่ติดนั่นเอง ส่วนจำนวน Q และ P ที่เป็นตัวเลขจริงๆเป็นเท่าไร อันนี้ต้องขอสารภาพครับว่าผมก็ไม่รู้ เพราะต้องศึกษาลงลึกลงไป แต่เชื่อว่ายังไง Q และ P ก็จะเป็นตัวเลขที่ไม่นิ่ง แตกต่างกันไปตามขอบเขตการศึกษา และช่วงเวลาการศึกษาอยู่ดี
 
เข้าเรื่องต่อดีกว่า ว่า เมื่อเรารู้แบบนี้แล้วเราจะแก้ปัญหารถติดได้อย่างไร ???  ฮ่าๆๆ ตอบแบบกำปั้นทุบดิได้เลยว่ามีอยู่ 2 วิธี วิธีแรกก็คือการการเขยิบเส้น Supply ออกไป ซึ่งทำให้ถนนนั้นรองรับปริมาณการจราจรได้มากขึ้น ส่วนวิธีการก็คือ ตัดถนนเพิ่ม หรือขยายเส้นทาง ซึ่งเป็นวิธีแบบโบราณในสมัยที่ที่ทางยังมีอีกมาก แต่ปัจจุบันเริ่มทำได้ยากแล้ว การขยับเส้น Supply จึงอาจทำได้แค่เพียงการวางแผนถนนให้ใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น
  • การทำให้เกิดความสมดุลระหว่างถนนหลัก และถนนรอง (Arterial-Collector Street)
  • การจัดระบบการจราจรให้เหมาะสม เช่น ห้ามจอด ห้ามกลับรถ เดินรถทางเดียว หรือการกำหนดช่องทางวิ่งรถ (lane) ตามช่วงเวลาเป็นต้น
  • การกำหนดผังเมืองให้เหมาะสม เช่น ที่ไหนสามารถตั้งห้างสรรพสินค้าได้ ที่ไหนเป็น zone office (CBD) หรือที่ไหนควรเป็น zone ที่อยู่อาศัย เป็นต้น
อีกวิธีหนึ่งก็คือการลดปริมาณการเดินทางให้น้อยลง โดยมีหลายวิธี เช่น
  • การสร้างระบบขนส่งมวลชน เช่น MRT, BTS
  • การพัฒนารูปแบบการเดินทางทางอื่น เช่น ทางเรือ ทางรถไฟ
  • การจัด zoning การพัฒนาที่ดิน เช่น การกำหนดโควต้านักเรียนตามภูมิลำเนา เป็นต้น
  • การเก็บเงินค่าเดินทางใน zone ที่สำคัญๆ ในช่วงเวลาเร่งด่วน เหมือนบางประเทศ
เมื่อมีความรู้มากขึ้นแล้วเราคงจะตอบได้ว่ามาตรการต่างๆของภาครัฐที่ออกมาเป็นประโยชน์กับปัญหารถติดตรงไหน หรือว่าไม่ได้เป็นประโยชน์เลย ลองดูโครงการเหล่านี้
  1. โครงการ BRT ของ กทม
  2. โครงการรถไฟรางคู่
  3. โครงการรถไฟฟ้าทั่ว กทม.
  4. โครงการคืนภาษารถคันแรก ??????
ป.ล.
(1) บทความนี้ไม่มีเจตนาที่เกี่ยวข้องกับการเมือง เพียงแต่มุ่งให้ความรู้ตามหลักวิชาการเท่านั้น
(2) ผู้เขียนมักวิ่งบนทางด่วนบูรพาวิถีด้านบนถนนบางนา-ตราดบ่อยมาก พบรถมักจะติดในจุดที่ตัดกับวงแหวนฝั่งตะวันออก เสนอให้แก้ไขดังนี้
  • ติดต่อให้ใช้ระบบเก็บเงินเดียวกันทั้งทางด่วนและวงแหวน ซึ่งจะทำให้ลดด่านเก็บเงินซึ่งเป็นปัญหาทำให้รถติด กรณีนี้หากตกลงกันไม่ได้รัฐควรเข้ามาเป็นตัวแทนผู้ยอมอุดหนุนแทนประชาชน อันจะทำให้เกิดผลดีโดยรวม
  • สนับสนุน Easypass อย่างจริงๆจังมากขึ้น เช่นการจัดโปรโมชั่น หรือแจกบัตร Easypass เลย ทำให้ลดเวลาการเก็บเงินทอนเงินตอนปลายทางไปได้มากโข
  • หากตกลงไม่ได้ลองยกเลิกการเก็บเงินแบบปลายทางบนทางด่วนบูรพาวิถึ แม้ว่าจะมีประโยชน์มาก แต่มีผลเสียอย่างยิ่งกรณีที่ปลายทางคนลงกันอย่างหนาแน่น
 
 

ไม่มีความคิดเห็น: