วันพุธที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565

็Happy Index แนวทางวัด "ความสุข"

มีอยู่ช่วงหนึ่ง ผมเคยพยายามคิดวิธีในการวัดความสุข เพราะผมคิดว่า จุดมุ่งหมายของทุกคนก็คือความสุข ดังนั้นถ้าเราสามารถจะวัดความสุขได้ นั่นคือ ที่สุด ยิ่งกว่าตัววัดทางเศรษฐกิจใดๆเลย แต่คิดแล้วก็ผ่านไปไม่ได้จริงจังอะไร

จนเมื่อเวลาผ่านมา หลังจากดูหนังมาหลายๆเรื่อง ผมเริ่มมีแนวคิดว่า หรือจุดหมายสูงสุดของคนเรา จะเป็น อิสรภาพ ซะมากกว่า เพราะดูสังคมรอบๆตัว ทั้งอดีตและปัจจุบัน ต่างต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งอิสรภาพกันมากมาย ไม่ว่าจะเป็น

  • การลงโทษคนด้วยการขังคุก นั่นก็คือ การลงโทษเพื่อไม่ให้มีอิสรภาพ
  • การต่อสู้ของคนผิวดำ-ผิวขาว หรือที่เรียกว่าเลิกทาส นั่นก็คือ การต่อสู้เพื่อให้คนดำมีอิสรภาพ
  • การสนับสนุนบทบาทของเพศหญิง นั่นก็อีกหนึ่งสิ่งเพื่อ อิสรภาพ หรือความมีอิสระที่จะเท่าเทียมกันของหญิงชาย
  • การสนับสนุนความคิดสร้างสรรของเด็กและเยาวชน
  • การที่บางคนเลือกไม่นับถือศาสนา
จนเมื่อเร็วๆนี้ หลังจากฟังธรรมะ เยอะๆ ผมเริ่มเข้าใจว่าสองสิ่งนี้มันเกี่ยวเนื่องกัน นั่นคือ

ความสุข = ความมีอิสระ

ทำไมความสุข จึงเท่ากับความมีอิสระ นั่นเพราะว่าหากเราไม่มีอิสระ ก็จะไม่มีสุขที่แท้จริง คำว่าไม่มีอิสระก็หมายถึงยังต้องพึ่งพาบางสิ่งอย่างอยู่ มีหรือเกิดขึ้นเองไม่ได้ ดังนั้นหากสิ่งนั้นหายไป หรือลดลงไป ความสุขเราก็จะน้อยลง จนพาลไปถึงมีความทุกข์ได้เลยทีเดียว

ความสุขของมนุษย์เรา อาจเริ่มต้นจากสิ่งที่เป็นรูปธรรมภายนอก หรือสิ่งที่มองเห็นได้ก่อน เช่น ทรัพย์สิน เสื้อผ้า หรือของใช้ ซึ่งนั่นก็หมายถึง ยิ่งมีมาก เราก็ยิ่งรู้สึกว่าเราสุขมาก ดังนั้น เราจึงยังไม่มีอิสระ ให้เราลองย้อนคิดไปถึงตอนเด็กๆ เราได้เงินไปโรงเรียนกันเท่าไร พอเราจบมา เราเริ่มได้เงินเดือนแค่ไหน และจนถึงตอนนี้ เราได้เงินเดือนกันเท่าไร ผมเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ได้เงินในปัจจุบันมากกว่าตอนที่เราเรียนจบใหม่ๆหรือตอนที่เราเริ่มทำงานครั้งแรก และแน่นอนว่า มันย่อมต้องมากกว่าตอนที่เราเป็นนักเรียนด้วย แต่เรากลับไม่ได้มีความสุขมากขึ้นตามจำนวนเงินที่มากขึ้นตามเลย

นั่นเป็นเพราะ ความสุขประเภทนี้เป็นความสุขภายนอก ซึ่งทำให้จิตใจเราต้องการมากขึ้นเรื่อยๆจึงจะมีความสุขอยู่ได้ ถ้าได้เท่าเดิมเราจะเริ่มสุขน้อยลงแล้ว สิ่งพวกนี้เรียกทางพระว่า อามิสสุข

แต่จริงๆแล้ว เรายังมีความสุขที่มีความละเอียดและดีกว่าขึ้นไปได้อีกหลายระดับ โดยเราสามารถพัฒนาความสุขได้ จากความสุขจากภายนอกอย่างเดียว ไปสู่ความสุขที่ไม่ได้เกิดจากภายนอกอย่างเดียว นั่นคือ มีความสุขจากภายในใจด้วย และถ้าเราพัฒนามากๆๆๆๆ ขึ้นไป ความสุขจากภายนอกจะหายไป และความสุขภายในจะเกิดขึ้นแทนที่

และเมื่อถึงตอนนั้น เราจะไม่อยากกลับมามีความสุขจากภายนอกอีกเลย อันนี้ผมก็ยังไม่เคยรู้สึกแบบนั้นนะครับ แต่พระท่านเปรียบเทียบอย่างน่าฟังว่า เหมือนคนที่เป็นโรคผิวหนังอยู่ คันเหลือเกิน เวลาได้เกา หรือมีคนมาเกาให้ก็จะมีความสุข แต่ถ้าเราสามารถรักษาโรคให้หายคันแล้ว แม้ว่าเราจะสามารถเกาได้ แต่เราก็กลับไม่เลือกกลับไปมีความสุขด้วยการเกาอีกแล้ว

การพัฒนาความสุขนี้ พระท่านมีคำง่ายๆที่พูดให้ชวนคิด และอยากให้คนที่อ่านไปคิดตาม จากที่เรามีความสุขจากวัตถุภายนอก เราพัฒนาไปสู่สภาพที่ว่า มีก็ดี ไม่มีก็ได้ และถ้าเราพัฒนาต่อไปอีก เราจะเข้าสู่สภาพที่ว่า มีก็ได้ ไม่มีก็ดี

สภาพความสุขภายใน เป็นสภาพความสุขที่มีอิสระ ไม่ขึ้นกับสิ่งใด ดังนั้น เราจะสุขได้ง่ายขึ้น มีอารมณ์พื้นฐานเป็นปราโมทย์ ปิติ สุข ตามหลักของธรรมสมาธิ

แต่ที่เขียนๆมาด้านบนอาจจะดูไกลไปหน่อย เราอาจมาเริ่มมองใกล้ๆจากสภาพปัจจุบัน แล้วค่อยๆพัฒนาความสุขเราขึ้นไป อย่างที่ท่านเรียกว่าการดูปัจจุบัน หรือเรียกว่า ทิฐธัมมิกรรธ ซึ่งท่านก็มีเขียนความสุขของคนธรรมดาอย่างพวกเราเพื่อเริ่มการพัฒนาเช่นกัน โดยมีทั้งสิ้น 4 ข้อ อันได้แก่
  1. ความสุขจากการมีรายได้ ที่สุข เพราะเราภูมิใจที่สามารถหารายได้มาจากกำลังความสามารถของตน
  2. ความสุขจากการใช้จ่ายจากรายได้ที่เราหามาได้ ตอบสนองความต้องการของเราและคนรอยตัว
  3. ความสุขจากการไม่เป็นหนี้ อันเป็นความสุขที่เรามีรายได้เพียงพอที่จะสนองจุดหมายสูงสุด
  4. ความสุขจากการประพฤติดี และสามารถพัฒนาตัวให้ดีขึ้นๆไปได้
จะเห็นได้ว่าพวกเราส่วนใหญ่ที่ยังอยู่ระดับคฤหัสห์หรือระดับต้นๆ ก็ต้องเริ่มจากการพัฒนาสิ่งนี้ เราต้องไม่มองทรัพย์สินว่าเป็นจุดมุ่งหมายของชีวิต เช่น ตั้งเป้าว่าจะรวย มีเงิน 100 ล้าน แต่จงมองทรัพย์สินเป็นปัจจัยหรือสาเหตุเกื้อหนุนให้เราบรรลุเป้าหมายของชีวิตเรา ซึ่งแต่ละคนก็คงไม่เหมือนกัน แต่ถ้าผู้ได้มีศรัทธาในศาสนาพุทธอย่างแรงกล้า ท่านก็ได้เสนอไว้แล้วว่าเป้าหมายสูงสุดในชีวิตก็ควรจะเป็นนิพพานนั่นเอง

พูดยาวมาถึงบัดนี้ก็มาขมวดว่า แนวทางในการวัดความสุข ที่ดี น่าจะวัดจากความเป็นอิสระต่อสิ่งภายนอก โดยเฉพาะปัจจัยตัวใหญ่นั่นก็คือ เงิน นั่นเอง หากใครที่ขึ้นกับเงินน้อย ไม่ได้คิดถึงการหาเงินมากๆ หรือมีปัจจัยเพียงพอแล้ว นั่นแล เป็นคนที่มีความสุขนั่นเอง

ไม่มีความคิดเห็น: