วันพฤหัสบดีที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565

"เมตตา กรุณา" พอไหม??

ในประเทศเรา คำว่า "เมตตา กรุณา" ถือเป็นวัฒนธรรมของประเทศเลยก็ว่าได้ บ้านหลายบ้านมักสอนลูกให้มีเมตตา และกรุณาต่อผู้อื่น หลายบ้านพาลูกเข้าวัดทำบุญถวายทานแล้วสอนเรื่องเมตตากรุณา ซึ่งอาจถือเป็นธรรมประจำใจของคนในประเทศเราไปแล้ว ทั้งที่หลายคนยังแยกไม่ออกด้วยซ้ำ ว่าเมตตากับกรุณาต่างกันอย่างไร (ซึ่งเดิมผมก็แยกไม่ออกครับ จนได้ฟังธรรมะจากท่าน ป.อ.ปยุตโตเลยถึงบางอ้อ ยังไงขออ้างอิงท่าน ณ ที่นี้ด้วยครับ)

คำถามที่ผมอยากให้คิดเพิ่ม นอกจากความหมายของเมตตากรุณา ก็คือ ธรรมะ 2 ข้อนี้ พอไหม???

ถามแบบนี้ทุกคนคงเดาคำตอบออกครับ คำตอบก็คือ ไม่พอครับ แต่ที่ว่าไม่พอหลายคนคงมีเหตุผลแตกต่างกัน ส่วนเหตุผลของผมอธิบายได้ดังนี้ครับ

1.ไม่พอเพราะไม่ครบสถาณการณ์
        เหตุผลแรกต้องเข้าใจในเรื่องความหมายให้ถูกต้องเสียก่อนครับ เมตตา นั้นเป็นธรรมะที่ให้ใจเราปรารถนาดีต่อผู้อื่น เนื่องจากเมตตามีรากศัพท์เดียวกับคำว่ามิตรครับ ดังนีั้น ธรรมะนี้จะใช้กับผู้อื่นในสถาณการณ์ปกติ ไม่ได้มีเรื่องดีใจ หรือเสียใจ ส่วนกรุณา นั้นมีความหมายว่าความสงสาร อยากช่วยให้ผู้อื่นพ้นทุกข์ ซึ่งนั่นแสดงว่าธรรมะนี้จะใช้กับผู้อื่นในสถาณการณ์ที่เสียใจหรือมีทุกข์อยู่นั้นเอง

        หลายคนอ่านมาถึงตรงนี้คง อ๋อแล้ว เพราะว่า มันยังขาดธรรมะสำหรับใช้ในสถาณการณ์ที่ผู้อื่นดีใจหรือมีความสุข ธรรมะตัวนี้มีชื่อว่า มุทิตา เอ หลายคนเคยได้ยินคำนี้ในงานมุทิตาจิต ซึ่งเป็นวันเกษียณของคุณครูบ้างหรือเพื่อนรวมงานบ้าน ซึ่งจริงๆแล้วคำนี้ก็คือคำเดียวกัน หมายถึง ความชื่นชมยินดีกับการเกษียณจากงาน พ้นภาระหน้าที่ ซึ่งจะได้ไปทำในสิ่งที่ต้องการได้สักที

       คุณธรรมข้อนี้ถ้าเราขาดไป (ท่านว่าคนไทยขาดกันมาก) จะเกิดขั้วตรงข้ามขึ้นในใจ นั่นก็คือความอิจฉาริษยา เหมือนทีน่เราเห็นกันบ่อยๆในละครหลังข่าวของประเทศเรา ดังนั้นถ้าจะละได้ ก็ต้องฝึกความมีมุทิตาบ่อยๆ เจอใครที่ได้ดีก็ต้องนึกยินดีกับเค้า นึกด้วยใจจริง ตามหลักพุทธศาสนาที่เชื่อเรื่องเหตุปัจจัย คนที่เค้าประสบความสำเร็จหรือความสุข ก็เพราะเค้าทำเหตุปัจจัยดังกล่าวครบถ้วนจึงได้ผลนั้นั่นเอง

    

2. ยังไม่พออีก เพราะถ้ามีแค่นี้อาจทำให้เกิดผลเสีย

        การที่เรามีแค่เมตตา และกรุณา (หรือแม้กระทั่งมีมุทิตาด้วย) ก็ยังทำให้เกิดผลเสียขึ้นได้ ผลเสียดังกล่าวเกิดจากการใช้ธรรมะโดยขาด ปัญญา เพราะปัญญาเป็นตัวที่ช่วยทำให้การใช้ธรรมะเป็นไปในทางดีงาม และเข้าใจหลักการของเหตุและปัจจัย ยกตัวอย่างใกล้ตัวเช่น การเลี้ยงลูก ถ้าเราใช้แต่เมตตา กรุณา และมุทิตา เราก็คงจะช่วยลูกทุกอย่าง ช่วยลูกป้อนข้าว ช่วยลูกอาบน้ำ ช่วยลูกแปรงฟัน หรือหนักๆเข้าช่วยลูกทำการบ้าน ลูกเราก็จะอ่อนแอ ต้องพึ่งพาคนอื่นไปตลอด แต่ถ้าเราใช้หลักปัญญา หลายครั้งเราอาจต้องนิ่งเฉยปล่อยลูกทำบ้าง แม้ลูกจะร้องไห้ หรือบางครั้งลูกได้ดีเพราะทำไม่ดี เราก็ไม่ควรยินดีด้วย แบบนี้จึงจะเป็นการรักษาธรรม และช่วยให้ลูกเราเติบโตเป็นคนดีกว่า

        หลักปัญญาดังกล่าว มีชื่อเรียกว่า อุเบกขา ซึ่งหลายคนเคยได้ยินอยู่แล้ว แต่ยังขาดความเข้าใจ หลายคนเรียนพุทธศาสนามาตั้งแต่เด็ก ย่อมต้องเคยเห็นธรรมะชุดนี้ ที่เรียกรวม 4 ข้อ (เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา) ว่า พรหมวิหาร 4 แต่ก็ขาดความเข้าใจว่าธรรมะเป็นชุด ต้องใช้ให้ครบชุด หรือพัฒนาให้มีครบชุด ทุกข้อมีความสมดุลกันในตัว การเลือกใช้เพียงข้อเดียวอาจเกิดผลเสีย

ผมเพิ่มเติมเกร็ดที่ได้ฟังมาและน่าคิดมากสำหรับพรหมวิหาร 4 กับภาพใหญ่อย่างสังคม สังคมไทย ถือเป็นสังคมตัวอย่างของการที่เอาพรหมวิหาร มาใช้แค่ 2 ข้อ ซึ่งทำให้เราเห็นสังคมที่อ่อนแอ (เมตตากรุณาอย่างขาดปัญญา) ไม่เคารพกฏระเบียบ (ขาดอุเบกขา ซึ่งคือการเข้าใจเหตุปัจจัยของกฏระเบียบต่างๆที่ตั้งขึ้นมา) มีความอิจฉาริษยา (ขาดมุทิตา) มีการเล่นพรรคเล่นพวก เน้นรื่นเริงเป็นนิจ (ใช้มุทิตาผิด คือใช้อย่างขาดปัญญา)

หรือสังคมบางสังคมที่เน้นกฏระเบียบมาก ขณะที่ไม่มีเมตตา กรุณาเลยด้วยซ้ำ ซึ่งสังคมประเภทนี้จะเกิดสังคมที่แข็งแรง ทุกคนทำตามกฏระเบียบ แต่ผลเสียก็คือทุกคนจะไม่มีความสุข การอยู่แบบนี้ประหนึ่งเหมือนมีอุเบกขาที่แข็งแรง แต่อุเบกขาประเภทนี้เป็นอุเบกขาเทียม (หรือท่าน ป.อ.ปยุตโต ใช้คำว่า เฉยโง่) ความหมายก็คือ ไม่สนใจคนรอบข้าง เพราะคิดว่าทุกคนเป็นไปตามกฏระเบียบอยู่แล้ว ขณะที่อุเบกขาที่แท้นั้น หมายถึงการนิ่งเฉยด้วยปัญญา และกอปรด้วยเมตตา กรุณา และอุเบกขา นั่นคือ ต้องรู้ว่าเมื่อไรควรเฉย หรือไม่ควรเฉยนั่นเอง  

ไม่มีความคิดเห็น: