วันพุธที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565

็Happy Index แนวทางวัด "ความสุข"

มีอยู่ช่วงหนึ่ง ผมเคยพยายามคิดวิธีในการวัดความสุข เพราะผมคิดว่า จุดมุ่งหมายของทุกคนก็คือความสุข ดังนั้นถ้าเราสามารถจะวัดความสุขได้ นั่นคือ ที่สุด ยิ่งกว่าตัววัดทางเศรษฐกิจใดๆเลย แต่คิดแล้วก็ผ่านไปไม่ได้จริงจังอะไร

จนเมื่อเวลาผ่านมา หลังจากดูหนังมาหลายๆเรื่อง ผมเริ่มมีแนวคิดว่า หรือจุดหมายสูงสุดของคนเรา จะเป็น อิสรภาพ ซะมากกว่า เพราะดูสังคมรอบๆตัว ทั้งอดีตและปัจจุบัน ต่างต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งอิสรภาพกันมากมาย ไม่ว่าจะเป็น

  • การลงโทษคนด้วยการขังคุก นั่นก็คือ การลงโทษเพื่อไม่ให้มีอิสรภาพ
  • การต่อสู้ของคนผิวดำ-ผิวขาว หรือที่เรียกว่าเลิกทาส นั่นก็คือ การต่อสู้เพื่อให้คนดำมีอิสรภาพ
  • การสนับสนุนบทบาทของเพศหญิง นั่นก็อีกหนึ่งสิ่งเพื่อ อิสรภาพ หรือความมีอิสระที่จะเท่าเทียมกันของหญิงชาย
  • การสนับสนุนความคิดสร้างสรรของเด็กและเยาวชน
  • การที่บางคนเลือกไม่นับถือศาสนา
จนเมื่อเร็วๆนี้ หลังจากฟังธรรมะ เยอะๆ ผมเริ่มเข้าใจว่าสองสิ่งนี้มันเกี่ยวเนื่องกัน นั่นคือ

ความสุข = ความมีอิสระ

ทำไมความสุข จึงเท่ากับความมีอิสระ นั่นเพราะว่าหากเราไม่มีอิสระ ก็จะไม่มีสุขที่แท้จริง คำว่าไม่มีอิสระก็หมายถึงยังต้องพึ่งพาบางสิ่งอย่างอยู่ มีหรือเกิดขึ้นเองไม่ได้ ดังนั้นหากสิ่งนั้นหายไป หรือลดลงไป ความสุขเราก็จะน้อยลง จนพาลไปถึงมีความทุกข์ได้เลยทีเดียว

ความสุขของมนุษย์เรา อาจเริ่มต้นจากสิ่งที่เป็นรูปธรรมภายนอก หรือสิ่งที่มองเห็นได้ก่อน เช่น ทรัพย์สิน เสื้อผ้า หรือของใช้ ซึ่งนั่นก็หมายถึง ยิ่งมีมาก เราก็ยิ่งรู้สึกว่าเราสุขมาก ดังนั้น เราจึงยังไม่มีอิสระ ให้เราลองย้อนคิดไปถึงตอนเด็กๆ เราได้เงินไปโรงเรียนกันเท่าไร พอเราจบมา เราเริ่มได้เงินเดือนแค่ไหน และจนถึงตอนนี้ เราได้เงินเดือนกันเท่าไร ผมเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ได้เงินในปัจจุบันมากกว่าตอนที่เราเรียนจบใหม่ๆหรือตอนที่เราเริ่มทำงานครั้งแรก และแน่นอนว่า มันย่อมต้องมากกว่าตอนที่เราเป็นนักเรียนด้วย แต่เรากลับไม่ได้มีความสุขมากขึ้นตามจำนวนเงินที่มากขึ้นตามเลย

นั่นเป็นเพราะ ความสุขประเภทนี้เป็นความสุขภายนอก ซึ่งทำให้จิตใจเราต้องการมากขึ้นเรื่อยๆจึงจะมีความสุขอยู่ได้ ถ้าได้เท่าเดิมเราจะเริ่มสุขน้อยลงแล้ว สิ่งพวกนี้เรียกทางพระว่า อามิสสุข

แต่จริงๆแล้ว เรายังมีความสุขที่มีความละเอียดและดีกว่าขึ้นไปได้อีกหลายระดับ โดยเราสามารถพัฒนาความสุขได้ จากความสุขจากภายนอกอย่างเดียว ไปสู่ความสุขที่ไม่ได้เกิดจากภายนอกอย่างเดียว นั่นคือ มีความสุขจากภายในใจด้วย และถ้าเราพัฒนามากๆๆๆๆ ขึ้นไป ความสุขจากภายนอกจะหายไป และความสุขภายในจะเกิดขึ้นแทนที่

และเมื่อถึงตอนนั้น เราจะไม่อยากกลับมามีความสุขจากภายนอกอีกเลย อันนี้ผมก็ยังไม่เคยรู้สึกแบบนั้นนะครับ แต่พระท่านเปรียบเทียบอย่างน่าฟังว่า เหมือนคนที่เป็นโรคผิวหนังอยู่ คันเหลือเกิน เวลาได้เกา หรือมีคนมาเกาให้ก็จะมีความสุข แต่ถ้าเราสามารถรักษาโรคให้หายคันแล้ว แม้ว่าเราจะสามารถเกาได้ แต่เราก็กลับไม่เลือกกลับไปมีความสุขด้วยการเกาอีกแล้ว

การพัฒนาความสุขนี้ พระท่านมีคำง่ายๆที่พูดให้ชวนคิด และอยากให้คนที่อ่านไปคิดตาม จากที่เรามีความสุขจากวัตถุภายนอก เราพัฒนาไปสู่สภาพที่ว่า มีก็ดี ไม่มีก็ได้ และถ้าเราพัฒนาต่อไปอีก เราจะเข้าสู่สภาพที่ว่า มีก็ได้ ไม่มีก็ดี

สภาพความสุขภายใน เป็นสภาพความสุขที่มีอิสระ ไม่ขึ้นกับสิ่งใด ดังนั้น เราจะสุขได้ง่ายขึ้น มีอารมณ์พื้นฐานเป็นปราโมทย์ ปิติ สุข ตามหลักของธรรมสมาธิ

แต่ที่เขียนๆมาด้านบนอาจจะดูไกลไปหน่อย เราอาจมาเริ่มมองใกล้ๆจากสภาพปัจจุบัน แล้วค่อยๆพัฒนาความสุขเราขึ้นไป อย่างที่ท่านเรียกว่าการดูปัจจุบัน หรือเรียกว่า ทิฐธัมมิกรรธ ซึ่งท่านก็มีเขียนความสุขของคนธรรมดาอย่างพวกเราเพื่อเริ่มการพัฒนาเช่นกัน โดยมีทั้งสิ้น 4 ข้อ อันได้แก่
  1. ความสุขจากการมีรายได้ ที่สุข เพราะเราภูมิใจที่สามารถหารายได้มาจากกำลังความสามารถของตน
  2. ความสุขจากการใช้จ่ายจากรายได้ที่เราหามาได้ ตอบสนองความต้องการของเราและคนรอยตัว
  3. ความสุขจากการไม่เป็นหนี้ อันเป็นความสุขที่เรามีรายได้เพียงพอที่จะสนองจุดหมายสูงสุด
  4. ความสุขจากการประพฤติดี และสามารถพัฒนาตัวให้ดีขึ้นๆไปได้
จะเห็นได้ว่าพวกเราส่วนใหญ่ที่ยังอยู่ระดับคฤหัสห์หรือระดับต้นๆ ก็ต้องเริ่มจากการพัฒนาสิ่งนี้ เราต้องไม่มองทรัพย์สินว่าเป็นจุดมุ่งหมายของชีวิต เช่น ตั้งเป้าว่าจะรวย มีเงิน 100 ล้าน แต่จงมองทรัพย์สินเป็นปัจจัยหรือสาเหตุเกื้อหนุนให้เราบรรลุเป้าหมายของชีวิตเรา ซึ่งแต่ละคนก็คงไม่เหมือนกัน แต่ถ้าผู้ได้มีศรัทธาในศาสนาพุทธอย่างแรงกล้า ท่านก็ได้เสนอไว้แล้วว่าเป้าหมายสูงสุดในชีวิตก็ควรจะเป็นนิพพานนั่นเอง

พูดยาวมาถึงบัดนี้ก็มาขมวดว่า แนวทางในการวัดความสุข ที่ดี น่าจะวัดจากความเป็นอิสระต่อสิ่งภายนอก โดยเฉพาะปัจจัยตัวใหญ่นั่นก็คือ เงิน นั่นเอง หากใครที่ขึ้นกับเงินน้อย ไม่ได้คิดถึงการหาเงินมากๆ หรือมีปัจจัยเพียงพอแล้ว นั่นแล เป็นคนที่มีความสุขนั่นเอง

วันพฤหัสบดีที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565

"เมตตา กรุณา" พอไหม??

ในประเทศเรา คำว่า "เมตตา กรุณา" ถือเป็นวัฒนธรรมของประเทศเลยก็ว่าได้ บ้านหลายบ้านมักสอนลูกให้มีเมตตา และกรุณาต่อผู้อื่น หลายบ้านพาลูกเข้าวัดทำบุญถวายทานแล้วสอนเรื่องเมตตากรุณา ซึ่งอาจถือเป็นธรรมประจำใจของคนในประเทศเราไปแล้ว ทั้งที่หลายคนยังแยกไม่ออกด้วยซ้ำ ว่าเมตตากับกรุณาต่างกันอย่างไร (ซึ่งเดิมผมก็แยกไม่ออกครับ จนได้ฟังธรรมะจากท่าน ป.อ.ปยุตโตเลยถึงบางอ้อ ยังไงขออ้างอิงท่าน ณ ที่นี้ด้วยครับ)

คำถามที่ผมอยากให้คิดเพิ่ม นอกจากความหมายของเมตตากรุณา ก็คือ ธรรมะ 2 ข้อนี้ พอไหม???

ถามแบบนี้ทุกคนคงเดาคำตอบออกครับ คำตอบก็คือ ไม่พอครับ แต่ที่ว่าไม่พอหลายคนคงมีเหตุผลแตกต่างกัน ส่วนเหตุผลของผมอธิบายได้ดังนี้ครับ

1.ไม่พอเพราะไม่ครบสถาณการณ์
        เหตุผลแรกต้องเข้าใจในเรื่องความหมายให้ถูกต้องเสียก่อนครับ เมตตา นั้นเป็นธรรมะที่ให้ใจเราปรารถนาดีต่อผู้อื่น เนื่องจากเมตตามีรากศัพท์เดียวกับคำว่ามิตรครับ ดังนีั้น ธรรมะนี้จะใช้กับผู้อื่นในสถาณการณ์ปกติ ไม่ได้มีเรื่องดีใจ หรือเสียใจ ส่วนกรุณา นั้นมีความหมายว่าความสงสาร อยากช่วยให้ผู้อื่นพ้นทุกข์ ซึ่งนั่นแสดงว่าธรรมะนี้จะใช้กับผู้อื่นในสถาณการณ์ที่เสียใจหรือมีทุกข์อยู่นั้นเอง

        หลายคนอ่านมาถึงตรงนี้คง อ๋อแล้ว เพราะว่า มันยังขาดธรรมะสำหรับใช้ในสถาณการณ์ที่ผู้อื่นดีใจหรือมีความสุข ธรรมะตัวนี้มีชื่อว่า มุทิตา เอ หลายคนเคยได้ยินคำนี้ในงานมุทิตาจิต ซึ่งเป็นวันเกษียณของคุณครูบ้างหรือเพื่อนรวมงานบ้าน ซึ่งจริงๆแล้วคำนี้ก็คือคำเดียวกัน หมายถึง ความชื่นชมยินดีกับการเกษียณจากงาน พ้นภาระหน้าที่ ซึ่งจะได้ไปทำในสิ่งที่ต้องการได้สักที

       คุณธรรมข้อนี้ถ้าเราขาดไป (ท่านว่าคนไทยขาดกันมาก) จะเกิดขั้วตรงข้ามขึ้นในใจ นั่นก็คือความอิจฉาริษยา เหมือนทีน่เราเห็นกันบ่อยๆในละครหลังข่าวของประเทศเรา ดังนั้นถ้าจะละได้ ก็ต้องฝึกความมีมุทิตาบ่อยๆ เจอใครที่ได้ดีก็ต้องนึกยินดีกับเค้า นึกด้วยใจจริง ตามหลักพุทธศาสนาที่เชื่อเรื่องเหตุปัจจัย คนที่เค้าประสบความสำเร็จหรือความสุข ก็เพราะเค้าทำเหตุปัจจัยดังกล่าวครบถ้วนจึงได้ผลนั้นั่นเอง

    

2. ยังไม่พออีก เพราะถ้ามีแค่นี้อาจทำให้เกิดผลเสีย

        การที่เรามีแค่เมตตา และกรุณา (หรือแม้กระทั่งมีมุทิตาด้วย) ก็ยังทำให้เกิดผลเสียขึ้นได้ ผลเสียดังกล่าวเกิดจากการใช้ธรรมะโดยขาด ปัญญา เพราะปัญญาเป็นตัวที่ช่วยทำให้การใช้ธรรมะเป็นไปในทางดีงาม และเข้าใจหลักการของเหตุและปัจจัย ยกตัวอย่างใกล้ตัวเช่น การเลี้ยงลูก ถ้าเราใช้แต่เมตตา กรุณา และมุทิตา เราก็คงจะช่วยลูกทุกอย่าง ช่วยลูกป้อนข้าว ช่วยลูกอาบน้ำ ช่วยลูกแปรงฟัน หรือหนักๆเข้าช่วยลูกทำการบ้าน ลูกเราก็จะอ่อนแอ ต้องพึ่งพาคนอื่นไปตลอด แต่ถ้าเราใช้หลักปัญญา หลายครั้งเราอาจต้องนิ่งเฉยปล่อยลูกทำบ้าง แม้ลูกจะร้องไห้ หรือบางครั้งลูกได้ดีเพราะทำไม่ดี เราก็ไม่ควรยินดีด้วย แบบนี้จึงจะเป็นการรักษาธรรม และช่วยให้ลูกเราเติบโตเป็นคนดีกว่า

        หลักปัญญาดังกล่าว มีชื่อเรียกว่า อุเบกขา ซึ่งหลายคนเคยได้ยินอยู่แล้ว แต่ยังขาดความเข้าใจ หลายคนเรียนพุทธศาสนามาตั้งแต่เด็ก ย่อมต้องเคยเห็นธรรมะชุดนี้ ที่เรียกรวม 4 ข้อ (เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา) ว่า พรหมวิหาร 4 แต่ก็ขาดความเข้าใจว่าธรรมะเป็นชุด ต้องใช้ให้ครบชุด หรือพัฒนาให้มีครบชุด ทุกข้อมีความสมดุลกันในตัว การเลือกใช้เพียงข้อเดียวอาจเกิดผลเสีย

ผมเพิ่มเติมเกร็ดที่ได้ฟังมาและน่าคิดมากสำหรับพรหมวิหาร 4 กับภาพใหญ่อย่างสังคม สังคมไทย ถือเป็นสังคมตัวอย่างของการที่เอาพรหมวิหาร มาใช้แค่ 2 ข้อ ซึ่งทำให้เราเห็นสังคมที่อ่อนแอ (เมตตากรุณาอย่างขาดปัญญา) ไม่เคารพกฏระเบียบ (ขาดอุเบกขา ซึ่งคือการเข้าใจเหตุปัจจัยของกฏระเบียบต่างๆที่ตั้งขึ้นมา) มีความอิจฉาริษยา (ขาดมุทิตา) มีการเล่นพรรคเล่นพวก เน้นรื่นเริงเป็นนิจ (ใช้มุทิตาผิด คือใช้อย่างขาดปัญญา)

หรือสังคมบางสังคมที่เน้นกฏระเบียบมาก ขณะที่ไม่มีเมตตา กรุณาเลยด้วยซ้ำ ซึ่งสังคมประเภทนี้จะเกิดสังคมที่แข็งแรง ทุกคนทำตามกฏระเบียบ แต่ผลเสียก็คือทุกคนจะไม่มีความสุข การอยู่แบบนี้ประหนึ่งเหมือนมีอุเบกขาที่แข็งแรง แต่อุเบกขาประเภทนี้เป็นอุเบกขาเทียม (หรือท่าน ป.อ.ปยุตโต ใช้คำว่า เฉยโง่) ความหมายก็คือ ไม่สนใจคนรอบข้าง เพราะคิดว่าทุกคนเป็นไปตามกฏระเบียบอยู่แล้ว ขณะที่อุเบกขาที่แท้นั้น หมายถึงการนิ่งเฉยด้วยปัญญา และกอปรด้วยเมตตา กรุณา และอุเบกขา นั่นคือ ต้องรู้ว่าเมื่อไรควรเฉย หรือไม่ควรเฉยนั่นเอง  

วันศุกร์ที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2565

พระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร

    คำถามนี้ผมไม่เคยคิดมาก่อนเลย แต่พอได้ฟังว่าจริงๆแล้วพระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไรมา (อ้างอิงจาก
คลิปท่าน ป.อ.ปยุตโต ) ทำให้ผมคิดย้อนกลับไปว่า เออ ถ้าเรายังไม่เคยฟัง เราจะตอบว่าพระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไรนะ อาจจะตอบว่า ตรัสรู้ความจริงสิ หรือกล่าวแบบคนรู้มากขึ้นก็อาจตอบว่า ทุกสิ่งล้วนแต่ไม่เที่ยง อนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา อาจจะตอบว่า อริยสัจ 4 อาจจะตอบว่าหนทางดับทุกข์ (ซึ่งก็อยู่ในอริยสัจ 4 นั่นแหละ) แต่คำตอบทั้งหมด ที่อาจตอบได้ เป็นคำตอบที่ไม่เชื่อมโยง ไม่มีที่มา ยกมาเป็นเรื่องๆไป ซึ่งนั่นก็น่าจะเกิดจากการที่เรามองพุทธศาสนาอย่างผิวๆ เบลอๆ ไม่ชัด ไม่ลงในรายละเอียด อาจจะด้วยเป็นสิ่งที่เราใกล้ชิดเกินไปจนมองว่ารู้อยู่แล้ว

     คำตอบของคำถามนี้ จากท่าน ป.อ.ปยุตโต ได้สรุปถึงแก่นสิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ เป็น 2 อย่าง นั่นคือ 

    1. เข้าใจเหตุปัจจัยของสิ่งที่เกิดขึ้นในจิตใจมนุษย์ หรือถ้าเรียกเป็นศัพท์ทางบาลีก็คือ อิทัปปัจจยตาปฏิจสมุปบาท ซึ่งหมายถึงว่าทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุและปัจจัย ซึ่งเกี่ยวเนื่องโดยตรงกับหลักไตรลักษณ์ (อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา) และท่านได้ใช้หลักดังกล่าวมองเจาะลึกไปถึงเหตุและปัจจัยการเกิดขึ้นในจิตใจมนุษย์ออกอย่างละเอียด เป็น 12 สิ่งที่เกี่ยวพันซึ่งกันและกัน (1. อวิชชา 2. สังขาร 3. วิญญาณ 4. นามรูป 5. สฬายตนะ 6. ผัสสะ 7. เวทนา 8. ตัณหา 9.อุปาทาน 10. ภพ 11. ชาติ 12. ชรา มรณะ) ซึ่งแต่ละศัพท์ แต่ละคำเราต้องศึกษาความหมายให้ดี เพราะหลายคำภาษาไทยกับภาษาบาลีเดิมมีความแตกต่างกันอย่างมาก
    2. นิพพาน หรือหนทางไปสู่การดับทุกข์ โดยหลังจากที่เข้าใจถึง Fact เกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นในจิตใจมนุษย์อย่างชัดเจน แบบรู้ทุกเหตุทุกปัจจัย (ยิ่งกว่าจบ Ph.D. นะแบบนี้ เพราะว่า ปริญญาเอก เรายังค้นคว้าคิดค้นแค่จุดเล็กๆจุดเดียวของเรื่อง แต่อันนี้คือเห็นครบทุกจุดเลย) ท่านจึงใช้ความรู้ดังกล่าวค้นพบวิธีเข้าสู่นิพพานได้

     หลายคนนึกต่อว่า เฮ้ยๆ พระพุทธเจ้าท่านสอนธรรมะไว้เยอะแยะ หลายบทหลายหมวด ทำไมถึงว่าท่านตรัสรู้แค่ 2 อย่างนี้ละ ... เอาตามความคิดผม พระพุทธเจ้าท่านทรงสอนธรรมไว้กว่า 84,000 พระธรรมขันธ์ แตกต่างกันตามสภาพเหตุการณ์หรือบุพบทที่มีในขณะนั้น ภายใต้หลักการใหญ่ที่ท่านตรัสรู้มา 2 อย่าง เช่น 

  • การสอนหนทางนิพพานแบบอริยสัจ4 ซึ่งถือเป็นการสอนที่เข้าใจได้ง่ายสำหรับคนทั่วไปด้วยการเริ่มด้วย Pain Point ที่คนเราประสบอยู่ทุกวัน ราวกับเข้าใจกัน และทำให้เราสนใจสิ่งที่จะสื่อสารต่อไป (ทุกข์) จากนั้นจึงค่อยบอกถึงสาเหตุของ Pain Point (สมุทัย) บอกถึงสภาพของการนิพพานว่าจะไม่ต้องประสบกับความทุกข์อีกต่อไป และยังมีข้อดีต่างๆอีกหลายอย่าง (นิโรธ) สุดท้ายจึงบอกหนทางดับทุกข์ไว้ (มรรค) ซึ่งท่านว่าเป็นหลักการเดียวกับการปลุกระดมคนได้
  •  การสอนมงคลชีวิต เริ่มตั้งแต่การปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ไปเรื่อยๆจนบรรลุนิพพาน ก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งของการเข้าสู่นิพพาน
  • ธรรมที่มีเป็นหมวดๆล้วนแต่มีจุดประสงค์เฉพาะอย่างตามที่มีคนทูลถาม เช่น พรหมวิหาร4 หรืออัปมัญญา4 (เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา) เป็นธรรมในจิตใจคนที่พึงมีสำหรับการคิดต่อเพื่อนมนุษย์ ซึ่งถ้ามีมนุษย์ผู้นั้นก็ถือเป็นพรหมได้ (เปรียบกับพรหมเพื่อหักล้างกับความเชื่อของศาสนาพราหมณ์ในขณะนั้น มิได้อยากเป็นพรหมจริงๆ) ขณะที่การกระทำออกมาต่อเพื่อนมนุษย์ควรไปใช้ชุดสังคหวัตถุ 4 (ทาน ปิยวาจา อรรถจริยา สมานตตา) แทน ซึ่งทั้งหมดเกี่ยวข้องกันอยู่แต่มีจุดมุ่งหมายที่ต่างกัน