วันศุกร์ที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2565

พระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร

    คำถามนี้ผมไม่เคยคิดมาก่อนเลย แต่พอได้ฟังว่าจริงๆแล้วพระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไรมา (อ้างอิงจาก
คลิปท่าน ป.อ.ปยุตโต ) ทำให้ผมคิดย้อนกลับไปว่า เออ ถ้าเรายังไม่เคยฟัง เราจะตอบว่าพระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไรนะ อาจจะตอบว่า ตรัสรู้ความจริงสิ หรือกล่าวแบบคนรู้มากขึ้นก็อาจตอบว่า ทุกสิ่งล้วนแต่ไม่เที่ยง อนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา อาจจะตอบว่า อริยสัจ 4 อาจจะตอบว่าหนทางดับทุกข์ (ซึ่งก็อยู่ในอริยสัจ 4 นั่นแหละ) แต่คำตอบทั้งหมด ที่อาจตอบได้ เป็นคำตอบที่ไม่เชื่อมโยง ไม่มีที่มา ยกมาเป็นเรื่องๆไป ซึ่งนั่นก็น่าจะเกิดจากการที่เรามองพุทธศาสนาอย่างผิวๆ เบลอๆ ไม่ชัด ไม่ลงในรายละเอียด อาจจะด้วยเป็นสิ่งที่เราใกล้ชิดเกินไปจนมองว่ารู้อยู่แล้ว

     คำตอบของคำถามนี้ จากท่าน ป.อ.ปยุตโต ได้สรุปถึงแก่นสิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ เป็น 2 อย่าง นั่นคือ 

    1. เข้าใจเหตุปัจจัยของสิ่งที่เกิดขึ้นในจิตใจมนุษย์ หรือถ้าเรียกเป็นศัพท์ทางบาลีก็คือ อิทัปปัจจยตาปฏิจสมุปบาท ซึ่งหมายถึงว่าทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุและปัจจัย ซึ่งเกี่ยวเนื่องโดยตรงกับหลักไตรลักษณ์ (อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา) และท่านได้ใช้หลักดังกล่าวมองเจาะลึกไปถึงเหตุและปัจจัยการเกิดขึ้นในจิตใจมนุษย์ออกอย่างละเอียด เป็น 12 สิ่งที่เกี่ยวพันซึ่งกันและกัน (1. อวิชชา 2. สังขาร 3. วิญญาณ 4. นามรูป 5. สฬายตนะ 6. ผัสสะ 7. เวทนา 8. ตัณหา 9.อุปาทาน 10. ภพ 11. ชาติ 12. ชรา มรณะ) ซึ่งแต่ละศัพท์ แต่ละคำเราต้องศึกษาความหมายให้ดี เพราะหลายคำภาษาไทยกับภาษาบาลีเดิมมีความแตกต่างกันอย่างมาก
    2. นิพพาน หรือหนทางไปสู่การดับทุกข์ โดยหลังจากที่เข้าใจถึง Fact เกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นในจิตใจมนุษย์อย่างชัดเจน แบบรู้ทุกเหตุทุกปัจจัย (ยิ่งกว่าจบ Ph.D. นะแบบนี้ เพราะว่า ปริญญาเอก เรายังค้นคว้าคิดค้นแค่จุดเล็กๆจุดเดียวของเรื่อง แต่อันนี้คือเห็นครบทุกจุดเลย) ท่านจึงใช้ความรู้ดังกล่าวค้นพบวิธีเข้าสู่นิพพานได้

     หลายคนนึกต่อว่า เฮ้ยๆ พระพุทธเจ้าท่านสอนธรรมะไว้เยอะแยะ หลายบทหลายหมวด ทำไมถึงว่าท่านตรัสรู้แค่ 2 อย่างนี้ละ ... เอาตามความคิดผม พระพุทธเจ้าท่านทรงสอนธรรมไว้กว่า 84,000 พระธรรมขันธ์ แตกต่างกันตามสภาพเหตุการณ์หรือบุพบทที่มีในขณะนั้น ภายใต้หลักการใหญ่ที่ท่านตรัสรู้มา 2 อย่าง เช่น 

  • การสอนหนทางนิพพานแบบอริยสัจ4 ซึ่งถือเป็นการสอนที่เข้าใจได้ง่ายสำหรับคนทั่วไปด้วยการเริ่มด้วย Pain Point ที่คนเราประสบอยู่ทุกวัน ราวกับเข้าใจกัน และทำให้เราสนใจสิ่งที่จะสื่อสารต่อไป (ทุกข์) จากนั้นจึงค่อยบอกถึงสาเหตุของ Pain Point (สมุทัย) บอกถึงสภาพของการนิพพานว่าจะไม่ต้องประสบกับความทุกข์อีกต่อไป และยังมีข้อดีต่างๆอีกหลายอย่าง (นิโรธ) สุดท้ายจึงบอกหนทางดับทุกข์ไว้ (มรรค) ซึ่งท่านว่าเป็นหลักการเดียวกับการปลุกระดมคนได้
  •  การสอนมงคลชีวิต เริ่มตั้งแต่การปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ไปเรื่อยๆจนบรรลุนิพพาน ก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งของการเข้าสู่นิพพาน
  • ธรรมที่มีเป็นหมวดๆล้วนแต่มีจุดประสงค์เฉพาะอย่างตามที่มีคนทูลถาม เช่น พรหมวิหาร4 หรืออัปมัญญา4 (เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา) เป็นธรรมในจิตใจคนที่พึงมีสำหรับการคิดต่อเพื่อนมนุษย์ ซึ่งถ้ามีมนุษย์ผู้นั้นก็ถือเป็นพรหมได้ (เปรียบกับพรหมเพื่อหักล้างกับความเชื่อของศาสนาพราหมณ์ในขณะนั้น มิได้อยากเป็นพรหมจริงๆ) ขณะที่การกระทำออกมาต่อเพื่อนมนุษย์ควรไปใช้ชุดสังคหวัตถุ 4 (ทาน ปิยวาจา อรรถจริยา สมานตตา) แทน ซึ่งทั้งหมดเกี่ยวข้องกันอยู่แต่มีจุดมุ่งหมายที่ต่างกัน 

 

ไม่มีความคิดเห็น: