วันพฤหัสบดีที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

ตัดก่อนตาย เตือนก่อนวายวอด

ผมว่าไม่มีใครไม่รู้จัก Slogan นี้ของ Safe T Cut ครับ และผมได้ยินมาตั้งแต่เด็กแล้ว แต่จะมีสักกี่คนที่เข้าใจจริงๆเกี่ยวกับไอ้เจ้าเครื่องที่เรียกว่า Safe T Cut นี้ครับ แม้แต่คนขายเองก็ตามก็อาจจะไม่เข้าใจการทำงานที่แท้จริงของมันครับ แล้วจริงๆมันจำเป็นหรือเปล่า (เอ!! บ้านผมก็ยังไม่ได้ซื้อเลย)

Safe T Cut เป็นชื่อยี่ห้อหนึ่งในหลายๆยี่ห้อของอุปกรณ์ประเภทนี้ จริงๆอุปกรณ์นี้มันก็คือ Circuit Breaker ตัวหนึ่ง (เหมือนที่อยู่บนตู้เมนไฟเรา) เพียงแต่ว่ามีความฉลาดกว่า เพราะนอกจากจะตัดไฟในกรณีที่ใช้ไฟเกิน (เหมือนกับ Circuit Breaker ทั่วไป) ยังมีความไวสูงมากจนสามารถป้องกันไฟดูดและไฟช๊อต (ลัดวงจร) ได้ดี ความไวในที่นี้ก็คือความไวในการตรวจสอบรู้ว่ามีไฟรั่ว (มาตรฐานต้องตัดที่ 30 มิลลิแอมแปร์) และความเร็วในการตัดไฟสูง (มาตรฐานที่ 0.04 วินาที) ด้วยความเด่นเรื่องความไวนี้ทำให้หลายคนไปจัดประเภทอุปกรณ์นี้ว่าเป็นอุปกรณ์ป้องกันไฟฟ้ารั่ว หรือ ELCB (Electronic Leakage Circuit Breaker) เหมือนที่พบได้ในเครื่องทำน้ำอุ่นหรือน้ำร้อนราคาแพงๆ (แต่ ELCB แท้ๆไม่ได้ตัดไฟกรณีใช้ไฟเกินนะ)

สำหรับการต่อ Safe T Cut เราอาจจะใช้แทน Circuit Breaker ได้ทันที โดยไปซื้อรุ่นที่จัดไว้เป็นแผงไฟ หรือกรณีที่มีแผงไฟแล้วอาจจะต่อ Safe T Cut ตัวใหญ่ก่อนเข้าตู้เมนของเรา ดังรูปก็ได้ สิ่งสำคัญก็คือการเลือกขนาดของมันต้องไม่เล็กกว่าขนาด Main Circuit Breaker เดิม หรือพูดอีกอย่างคือเลือกให้เหมาะกับขนาดมิเตอร์ ซึ่งทำให้เราสามารถเลือกใช้ Safe T Cut ที่มีขนาดใหญ่กว่า Main Circuit Breaker ก็ได้ ซึ่งในกรณีนี้ Breaker จะทำหน้าที่เพิ่มจาก Main Curcuit Breaker ในเรื่องป้องกันไฟรั่วและช๊อต ขณะที่ Main Circuit Breaker จะใช้ป้องกันไฟเกินเพียงอย่างเดียว



สิ่งที่ต้องคำนึงถึงอีกอย่างของการติด Safe T Cut ก็คือ ไม่ควรใช้ Safe T Cut ไปต่อกับ อุปกรณ์ที่มีไฟรั่วเป็นปกติอยู่แล้วเพราะความไวของมันจะทำให้ Safe T Cut ตัดตลอดครับ ซึ่งส่งผลให้อุปกรณ์ดังกล่าวใช้งานไม่ได้ อุปกรณ์ดังกล่าวก็ได้แก่อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าเก่าๆที่มักมีความชื้น เช่น เครื่องปรับอากาศ หรือ ตู้เย็น หรือเครื่องซักผ้า ซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้มีโอกาสรั่วได้ง่ายครับ

จากคุณสมบัติที่กล่าวมาให้ฟังของ Safe T Cut จะเห็นว่ามีความจำเป็นอย่างมากในแง่ของความปลอดภัย แต่ในความเป็นจริงแล้ว Safe T Cut ไม่ใช่อุปกรณ์ที่มีความจำเป็นสูงสุดในการป้องกันอันตรายจากไฟฟ้าภายในบ้าน พระเอกตัวจริงน่าจะเป็นสายดินซะมากกว่า เพราะสายดินหรือที่เรียกว่า Ground นั้นจะป้องกันไฟดูดในกรณีที่มีไฟรั่วจากเครื่องใช้ไฟฟ้าทั้งหลาย การป้องกันไฟฟ้ารั่วของสายดินจะใช้หลักการของไฟฟ้าที่ชอบไหลผ่านเส้นทางที่มีความต้านทานต่ำๆ เปรียบเทียบก็เหมือนคนเราที่ชอบเดินไปทางเรียบๆโล่งๆมากกว่าทางรกๆ การต่อสายดิน ก็คือการต่อเส้นทางเดินสายไฟลงไปสู่สิ่งที่มีความต้านทานต่ำมากๆ (ความต้านทาน < 0.5 โอมห์) ซึ่งโดยทั่วไปก็คือต่อลงดินผ่านแท่ง Ground ที่ลึกพอ (ตามตำราเค้าว่าควรใช้แท่ง Ground ขนาดไม่ต่ำกว่า 1.80 เมตร และตอกส่งไปอีก 50 cm.) ความต้านทานที่ต่ำมากทำให้ไฟฟ้าชอบวิ่งไปยังสายนี้

เพื่อให้เห็นการทำงานของสายดิน จะยกตัวอย่างดังนี้ สมมติว่าเครื่องซักผ้าในบ้านที่ใช้มานานแล้ว เกิดไฟรั่วขึ้น ไฟฟ้าที่เดิมถูกออกแบบให้วิ่งเฉพาะในสายไฟผ่านเส้น Line เข้ามาผ่าน compressor แล้ววิ่งออกไปยังเส้น Neutral นั้นมีรูรั่วทำให้มีไฟฟ้าบางส่วนวิ่งบนตัวอุปกรณ์ ซึ่งสามารถนำไฟฟ้าได้ ไฟฟ้าที่รั่วพวกนี้ไม่ได้ทำให้ตู้เย็นดังกล่าวทำงานผิดปกติแต่อย่างใด แต่หากผู้ใช้เข้าไปจับตู้เย็นในส่วนที่มีไฟฟ้ารั่ว ไฟก็จะวิ่งเข้าร่างกายและหาทางออก ถ้าไม่มีทางออก เช่น เราใส่รองเท้าทำด้วยยาง หรือยืนบนพื้นไม้หนาๆ ก็ไม่ทำให้เกิดอันตราย แต่หากเรายืนอยู่บนกระเบื้องหรือวัสดุที่นำไฟฟ้าได้ ไฟฟ้าก็จะวิ่งผ่านตัวเราออกไป เสมือนเราเป็นสายไฟ แบบนี้แหละอันตราย ซึ่งจะอันตรายแค่ไหนขึ้นกับจำนวนไฟที่วิ่งผ่านและระยะเวลาที่ไฟวิ่งผ่านร่างกาย

แต่ถ้าตู้เย็นดังกล่าวมีการต่อสายดิน ไฟฟ้าทั้งหมดจะมีทางราบเรียบที่โรยด้วยกลีบกุหลายให้วิ่งผ่านไป (คือวิ่งลงดิน) ทำให้แม้เราจะไปจับต้องส่วนที่เป็นโลหะ หรือแม้แต่ใช้ไขควงวัดไฟ ไฟก็จะไม่วิ่งผ่าน เพราะว่าอุปกรณ์ทุกชนิดมีความต้านทานสูงกว่าดินอยู่แล้ว นี่แหละที่เรียกว่าพระเอกตัวเอกตัวจริง!! และในปัจจุบันการไฟฟ้ากำหนดให้ทุกบ้านที่ยื่นขอไฟ ต้องเดินสายดินผ่านปลั๊กไฟด้วย (เดิมให้ต่อเฉพาะบริเวณตู้เมนไฟ) เพื่อให้ผู้ใช้เสียบอุปกรณ์ไฟฟ้าที่เป็นปลั๊กสายดินได้ทันที

ร่ายมาซะยาว สรุปได้ว่า ถ้าเราต่อระบบสายดินให้ครอบคลุมพอ (เหมือนอย่างบ้านผมครับ) ก็จะให้ความปลอดภัยแก่ผู้ใช้ในระดับหนึ่ง คือไม่ต้องห่วงเรื่องไฟดูดจากเครื่องใช้ไฟฟ้า และถ้ายังมีตังค์เหลือ (อันนี้ไม่ใช่ผมแล้ว) ก็ควรติด Safe T Cut (หรือยี่ห้ออื่น) เพื่อเพิ่มความปลอดภัยในกรณีเราไปสัมผัสปลั๊กไฟโดยบังเอิญ หรือเหมือนพี่ผมคนนึงที่ใช้สว่านเจาะกำแพงแล้วไปโดนสายไฟ ก็รอดตายมาได้ด้วย Safe T Cut นี่แหละครับ

ไม่มีความคิดเห็น: