วันจันทร์ที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2556

..พิธีอุปสมบท

พิธีอุปสมบทเป็นพิธีการสำคัญ เมื่อชายคนใดต้องการบวชเป็นพระ โดยพิธีการดังกล่าวถือว่าเป็นอุบายที่แยบยลเป็นอย่างยิ่งในการทำให้พุทธศาสนายังคงอยู่ได้โดยไม่เสื่อมถอยลงไป

แต่เดิมนั้น ผมเเป็นคนหนึ่งที่คิดว่าพิธีการดังกล่าวเป็นเหมือนเปลือกนอก ไม่เห็นจะเกี่ยวข้องกับคำสอนของพุทธศาสนาตรงไหน หรือหากย้อนดูไปในสมัยพุทธกาล พระสงฆ์หลายรูปก็ไม่เห็นต้องมีพิธีอะไรที่มากมายเลย เพียงแค่พระพุทธเจ้ากล่าวให้มาเป็นภิกษุ ก็สามารถบวชเข้าเป็นพระสงฆ์ได้อย่างไม่ยุ่งยาก (ภายหลังถึงทราบว่าวิธีดังกล่าว เรียกว่า เอหิภิขุอุปสัมปทา)

เมื่อทางครอบครัวผมติดต่อแจ้งความประสงค์จะบวชกับทางวัด ทางวัดก็ได้ print เอกสารที่เป็นบทสวดและพิธีการมาให้ชุดหนึ่ง ผมก็ตั้งใจท่อง เพียงเพื่อไม่อยากให้ครอบครัวและตัวเองเสียหน้าเท่านั้นเอง แต่ไม่ได้มีความเข้าใจถึงความสำคัญเลย จนกระทั่งเมื่อท่องไปสักระยะหนึ่ง เริ่มรู้สึกว่าเราน่าจะรู้ความหมายสิ่งที่เราท่องอยู่สักหน่อย จึงเริ่มศึกษาความหมายและคำแปลของบทสวดเหล่านั้น พบว่าแต่ละคำ แต่ละส่วนล้วนมีความหมาย ซึ่งนั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ผมเริ่มเข้าใจถึงแก่นแท้ของพิธีอุปสมบทขึ้นมา

ต่อมาหลังผ่านพิธีอุปสมบทแล้ว มีโอกาสได้อ่านหนังสือที่พระพี่เลี้ยงนำมาให้อ่านอีกหลายเล่ม โดยเฉพาะในส่วนของพระไตรปิฏก ก็ยิ่งทำให้เกิดปัญญาในเรื่องพิธีอุปสมบทมากขึ้น ซึ่งจะขอนำมาอธิบายให้คนที่สนใจได้อ่านกันดังนี้

(1) พิธีอุปสมบทในปัจจุบันเป็นพิธีกรรมที่พระพุทธเจ้ากำหนดขึ้นมาในสมัยพุทธกาล โดยเป็นพิธีที่กำหนดขึ้นเมื่อพบว่ามีจำนวนภิกษุมากขึ้น  โดยที่เปลี่ยนจากการบวชโดยพระพุทธเจ้าเอง หรือพระอรหันต์เท่านั้น เปลี่ยนมาใช้คณะสงฆ์เป็นผู้อนุญาตให้บวชแทน ซึ่งวิธีนี้เรียกตามภาษาบาลีว่าพิธีแบบญัตติจตุตถกัมมอุปสัมปทา

โดยส่วนตัวแล้ว ผมคิดว่าการกำหนดแนวทางการบวชแบบใหม่นี้ นอกจากจะทำให้พุทธศาสนาเผยแผ่ได้เร็วขึ้นแล้ว ยังถือเป็นกุศโลบายอันชาญฉลาดยิ่งของพระองค์ในการที่จะทำให้พุทธศาสนาไม่เสื่อมเร็วจนเกินไป เพราะหากยังคงอนุญาตให้การบวชทำโดยพระอรหันต์หรือพระรูปเดี่ยวๆนั้น อาจเป็นช่องโหว่ที่จะทำให้พวกที่ไม่ได้ศรัทธาหรือต้องการเป็นพระภิกษุจริงๆ ได้เข้ามาในสถานะ "พระ" ซึ่งถือว่าเป็นสถานะพิเศษ เพราะไม่ต้องทำมาหากินก็มีผู้นำอาหารมาให้ หรือว่าถวายของต่างๆได้  และนั่นย่อมส่งผลต่อองค์รวมของพุทธศาสนาให้เสื่อมลงได้โดยง่าย พระพุทธเจ้าจึงกำหนดกฏเกณฑ์ขึ้นมา โดยกำหนดว่าต่อไปใครจะบวชได้นั้น ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะสงฆ์จำนวนหนึ่ง (มากกว่า 10 รูป) ซึ่งแน่นอนว่าหากพระสงฆ์ส่วนใหญ่เป็นพระสงฆ์ที่ดี ก็น่าเชื่อว่าพระใหม่ ซึ่งผ่านการคัดกรองจากคณะสงฆ์จึงน่าจะเป็นพระที่ดีต่อไปนั่นเอง
(2) ในส่วนของพิธีกรรม ผมคงจะไม่ได้คัดเอาบทส่วนมาให้อ่านกัน เพราะใครที่จะบวชคงได้รับบทสวดจากทางวัดอยู่แล้ว แต่ผมขออธิบายโดยรวมๆสำหรับพิธีกรรมนะครับ สำหรับพิธีการบวช หากไม่นับพิธีแห่นาค ซึ่งกระทำตามความเชื่อ แยกได้เป็น 3 ขั้นตอนอันได้แก่
  • การขอบวชกับพระอุปปัชฌา ถือเป็นขั้นตอนสำคัญขั้นตอนแรกๆเลย ซึ่งผู้ที่ประสงค์จะบวชต้องเข้าแสดงความเคารพและนอบน้อมต่อพระอุปปัชฺฌา กลางหมู่สงฆ์ พร้อมกล่าวคำขอบวช ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความศรัทธาอยากจะบวชจริงๆ และเมื่อทำแล้วท่านก็จะให้โอวาทแรกแก่เรา ซึ่งผมว่าส่วนนี้เป็นพิธีที่ศักดิ์สิทธิ์มากครับ (ต้องอยู่ในพิธีเองแล้วจะสัมผัสได้) โดยเฉพาะในการสอนกรรมฐานเบื้องต้น (ตจปัญจกกรรมฐาน) ที่จะให้เราตัดการยึดถือในส่วนของตัวตนออก โดยบอกว่า
  • ร่างกายเราที่บางคนมองว่าคนนั้นสวย คนนี้หล่อ แต่หากมองกันลึกๆลงไปทุกคนล้วนประกอบด้วย 5 อย่างนั่นคือ เกศา=ผม, โลมา=ขน, นขา=เล็บ ทันตา=ฟัน, ตโจ=ผิวหนัง
    ซึ่งหากลองคิดดีๆ ก็เถียงไม่ออกครับ เพราะคนทุกคนนั้นไม่ว่ารูปลักษณ์ภายนอกเป็นอย่างไร ก็ล้วนแต่ประกอบด้วยปัจจัย 5 อย่างนี้เสมอ

  • บรรพชาเป็นสามเณร ก่อนอุปสมบทเป็นพระ ท่านจะต้องบรรพชาเป็นเณรก่อน เพื่อให้เราได้ท่องศีล 10 ข้อที่สำคัญอย่างยิ่งให้ขึ้นใจ ก่อนจะไปเริ่มศึกษาศึลของพระที่มีถึง 227 ข้อ ซึ่งศึล 10 นี้ดูเผินๆก็เพียงเพิ่มเติมจากศีล 5 มาอีก 5 ข้อเท่านั้น แต่จริงๆแล้ว เราเพิ่มไปอีก 6 ข้อต่างหาก โดยปรับเปลี่ยนศึลข้อ 3 จากศึล 5 ที่ให้ละเว้นการประพฤติผิดในกาม มาให้เข้มขึ้น เป็นให้ประพฤติเป็นพรหมจรรย์แทน ซึ่งแต่ละข้อล้วนมีจุดประสงค์แฝงอยู่ทั้งสิ้นดังนี้
  • เว้นจากประพฤติผิดพรหมจรรย์ คือเว้นจากร่วมประเวณี เนื่องจากการสัมผัสทางร่างกายถือเป็นการก่อให้เกิดกิเลสได้อย่างรุนแรงที่สุดในบรรดาผัสสะ 6 (ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) หรือประสาทสัมผัสทั้ง 5 (การมอง การได้ยิน การได้กลิ่น การรับรู้รส และการสัมผัส) ซึ่งพบว่าแม้พระผู้ใหญ่หากได้มีการสัมผัสร่างกายก็อาจเกิดกิเลสขึ้นในจิตใจได้ อย่างห้ามจะยากได้ ท่านจึงถือข้อนี้เป็นสำคัญ
  • เว้นจากบริโภคอาหารในเวลาวิกาล คือนับเวลาตั้งแต่เที่ยงวันไปแล้ว เพราะการบริโภคอาหารช่วงเย็น นำมาซึ่งข้อเสียหลายอย่าง เช่น ปัญหาสุขภาพ อาการอยากหรือไม่อยาก เช่น อิ่มเกินไป หิวเกินไป เป็นต้น
  • เว้นจากฟ้อนรำ ขับร้อง ดูการละเล่น เนื่องจากการกระทำพวกนี้ล้วนแต่นำมาซึ่งกิเลส ซึ่งยากที่จะระงับได้ อีกทั้งยังดูไม่ดีต่อคนภายนอกอีกด้วย โดยส่วนตัวในแง่ของพระ ศีลข้อนี้อาจไม่สำคัญนัก แต่พระพุทธเจ้านำมาบัญญัติไว้ในศีล 10 เพราะเห็นว่าศึลข้อนี้สำคัญมากสำหรับผู้ที่เริ่มต้นละกิเลส มุ่งสู่นิพพาน 
  • เว้นจากการทัดทรงดอกไม้และเครื่องหอม ข้อนี้ก็เช่นเดียวกับข้อก่อนหน้า ซึ่งส่งผลให้เกิดทั้งกิเลส และคนภายนอกดูไม่ดีอีกด้วย 
  • เว้นจากนั่ง นอน เหนือเตียง ตั่ง มีเท้าสูงเกินประมาณ และที่นั่ง ที่นอนอันสูงใหญ่ ภายในใส่นุ่นและสำลี อาสนะอันวิจิตรไปด้วยลดลายงามด้วยเงินทองต่าง ศีลข้อนี้ น่าจะมุ่งให้เกิดความสำรวมในการเข้าฝึกตน เนื่องจากคฤหัสถ์โดยทั่วไปล้วนแต่ให้ความสำคัญกับเรื่องการนอน ดังนั้นเมื่อบวชเป็นพระแล้ว พระพุทธเจ้ามุ่งหมายให้เราใช้ชีวิตอย่างไม่ฟุ้งเฟ้อ และพอดี จึงให้เราเว้นจากที่นอนอันสูงใหญ่ ดังนั้น พระใหม่ (พระนวกะ) ทุกรูปจึงได้แจกเฉพาะผ้าปูนอนบางๆ คล้ายเสื่อผืนพอดีตัวเท่านั้น ซึ่งแม้จะดูเหมือนไม่สบายในช่วงแรก แต่เมื่อนอนทุกวันแล้วกลับรู้สึกสบายดี
  •  เว้นจากการรับทองและเงิน เนื่องจากพระในสมัยก่อนไม่จำเป็นต้องใช้เงินอยู่แล้ว เพราะปัจจัยสี่หาได้โดยรอบ อันได้แก่ อาหาร ก็บิณฑบาตรเอา เครื่องนุ่งห่ม ให้เก็บจากผ้าห่อศพ หรือที่มีคนนำมาถวาย ที่อยู่อาศัย ก็ปักกลดริมต้นไม้ใหญ่ และยารักษาโรค ก็อาศัยน้ำปาณะต่างๆได้ แต่ในยุคปัจจุบัน พระเริ่มมีความเป็นอยู่ที่เปลี่ยนไป การรับเงินทองอาจทำได้ เพียงแต่การใช้คงใช้อย่างพอเพียง ถ้ามีเกินแล้วก็ควรบริจาคออกไปเสียนั่นเอง
  • อุปสมบทเป็นพระภิกษุ พิธีส่วนนี้ไม่มีการท่องศีล 227 ข้อ ให้เห็น น่าจะเป็นเพราะหากท่องให้ครบอาจจะไม่ต้องบวชกันเลย และจะหาพระภิกษุที่ท่องศ๊ลครบทั้ง 227 ข้อได้ ก็มีอยู่อย่างจำกัดมาก(การสวดศีล 227 ข้อ เค้าเรียกกันว่าสวดปาฏิโมกข์) สิ่งสำคัญสำหรับขั้นตอนการการอุปสมบทเป็นพระภิกษุก็คือ การยืนยันต่อหน้าคณะสงฆ์ว่าเรามีคุณสมบัติที่เหมาะกับการบวชจริง ซึ่งคุณสมบัติที่นำมาถามเหล่านี้ถูกบัญญัติมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล และแต่ละข้อก็ล้วนแต่มีความหมาย และที่มา ซึ่งวัตถุประสงค์ใหญ่ๆก็คือทำให้คณะสงฆ์ในองค์รวมอยู่ได้ด้วยความเรียบร้อย เช่น
    • การถามว่าเป็นมนุษย์หรือไม่ เนื่องจากเคยมีเรื่องเล่าว่ามีสัตว์อื่นแปลงกายมาบวช และหากปล่อยให้บวชไปอาจทำให้คณะสงฆ์วุ่นวายได้
    • การถามว่าเป็นผู้ชายหรือไม่ เพราะคงไม่ดีแน่ หากในวัด ซึ่งเป็นทีอยู่ของเหล่าพระเณร ซึ่งเป็นชายล้วน มีเพศอื่นเข้ามาปะปน
    • การถามว่าบิดามารดายินยอมหรือยัง เนื่องจากเคยมีเหตุในสมัยพุทธกาล ที่พระพุทธเจ้าไปดึงพระราหุล ราชกุมารมาบวช ทำให้เสร็จพ่อของพระองค์ทูลขอ เพราะฝากความหวังเรื่องราชบัลลังก์ไว้กับพระราหุล เกรงว่าจะเกิดแบบเดียวกันกับคุณพ่อคุณแม่คนอื่น
    • การถามว่าเป็นโรคต่างๆหรือเปล่า โดยเฉพาะโรคติดต่อ
เห็นแล้วใช่ไหมว่าพิธีอุปสมบท ไม่ใช่แค่พิธีกรรมที่จัดขึ้นเฉยๆ แต่ยังแฝงไว้ด้วยเหตุผลลึกๆไว้มากมายจริงๆ








ไม่มีความคิดเห็น: